ขณะที่ผู้ซื้อบ้านหลายแสนคนปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจำนองสำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ขายล่วงหน้า เนื่องจากผู้พัฒนาพยายามอย่างหนักเพื่อดำเนินโครงการปลูกบ้านให้เสร็จทันเวลา ซึ่งอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 15-30% ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน นั่นทำให้ปัญหาต่าง ๆ ของตลาด กลายเป็นปัญหาสำหรับประเทศ และอาจส่งผลถึงการเติบโตทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยเจตนา โดยเมื่อเดือน ส.ค. 2563 รัฐบาลปักกิ่งออกนโยบาย “สามเส้นแดง” มุ่งเป้าไปที่การลดปัญหาฟองสบู่ที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่อย่างรอบคอบ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการทำ ด้วย 2 เป้าหมายที่เป็นการลดการพึ่งพาอสังหาริมทรัพย์ที่มากเกินไป และลดการเก็งกำไรที่ทำให้ราคาบ้านสูงเกินเอื้อมสำหรับคนจีนชนชั้นกลางหลายคน

South China Morning Post

อย่างไรก็ตาม กลับกลายเป็นว่า ผู้พัฒนาหลายรายดำเนินการนอกนโยบายดังกล่าว และต้องแบกรับหนี้สินจำนวนมหาศาล และการที่ไม่สามารถกู้เงินได้ภายใต้กฎระเบียบใหม่ ภาคอสังหาริมทรัพย์จึงเผชิญกับปัญหาเงินสดตึงตัวอย่างรุนแรง โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมากถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

คำถามที่ตามมาคือ วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีนอาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกหรือไม่? ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของจีนก่อให้เกิดความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้ความตึงเครียดเนื่องจากนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ที่เข้มงวดของรัฐบาลปักกิ่ง และการเติบโตทั่วโลกที่ชะลอตัว แม้นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ตลาดได้มาถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่มีการคาดการณ์ว่า ปัญหาของภาคส่วนนี้จะยังอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของจีดีพีโลก นั่นหมายความว่า การชะลอตัวครั้งใหญ่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน สภาเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีเอฟ) ประมาณการว่า จีดีพีของจีนที่ลดลงทุก 1 จุดเปอร์เซ็นต์ จะส่งผลให้จีดีพีโลกลดลง 0.3%

อย่างไรก็ดี รัฐบาลปักกิ่งได้ส่งสัญญาณว่าการสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นภารกิจที่สำคัญ ทั้งที่มีความมุ่งมั่นที่จะลดการพึ่งพาภาคส่วนนี้ก็ตาม โดยในการประชุมของหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของจีนเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้อง “รักษาเสถียรภาพ” ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเน้นย้ำว่า รัฐบาลท้องถิ่นควรรับผิดชอบเพื่อทำให้แน่ใจว่า บ้านที่ขายล่วงหน้าจะสร้างจนเสร็จ

นอกจากนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการประกาศสินเชื่อใหม่มูลค่า 3 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผ่านธนาคารนโยบายหลายแห่งของรัฐ

ถึงกระนั้น ความพยายามของจีนในการส่งเสริมตลาดอาจถูกจำกัด เนื่องด้วยการที่รัฐบาลปักกิ่งถูกคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่าจะยึดติดกับนโยบาย “สามเส้นแดง” และคำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่ว่า “บ้านมีไว้เพื่ออยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES