ศิลปะเซรามิกยังสร้างสรรค์เป็นงานประติมากรรมชวนหลงใหลทั้งในขนาดเล็กชิ้นจิ๋ว ๆ หรือขนาดใหญ่สะกดสายตา เป็นงานดีไซน์ งานอดิเรกที่กลายเป็นอาชีพ และยังเป็นศิลปะที่ดีต่อสุขภาพใจ ช่วยผ่อนคลายจากความเครียด …

“ศิลปะเซรามิก” มีเรื่องน่ารู้น่าติดตามหลายมิติ พาค้นความรู้ อัพเดทการสร้างสรรค์ผลงาน สัมผัสงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์มีมนต์เสน่ห์ โดย ผศ.โอภาส นุชนิยม อาจารย์ประจำสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ให้ความรู้ว่า เครื่องเคลือบดินเผา และเครื่องปั้นดินเผามักได้ยินคู่กันบ่อยครั้ง แต่ทั้งสองส่วนนี้มีความต่างกัน แยกจากกัน โดยงานเซรามิก หรือเรืยกอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องเคลือบดินเผา จากชื่อบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีนํ้ายาเคลือบผิวงาน โดยตัวเคลือบมีลักษณะเหมือนแก้วฉาบอยู่บนผิวงาน ขณะที่ เครื่องปั้นดินเผา จะปั้นอย่างเดียวไม่มีเคลือบ เมื่อนำไปเผาให้สีเป็นสีส้ม ๆ

“ศิลปะเซรามิกจากที่เคยแนะนำมีเทคนิคสร้างสรรค์ได้หลากหลาย อย่าง การขึ้นรูป มีพื้นฐานของการบีบ ขด หล่อนํ้าดิน ฯลฯ ส่วนการเคลือบก็เช่นกัน เคลือบได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การเคลือบใส เคลือบด้าน เคลือบเงา เคลือบเตาฟืน ขณะที่เทคนิคการเผา มีแบบออกซิเดชัน เผาแบบบรรยากาศปกติ เผาแบบรีดักชัน มีเขม่าควันเข้าไปทำปฏิกิริยา ทำให้นํ้ายาเคลือบเปลี่ยนสี เปลี่ยนโครงสร้าง เทคนิครากุ หรือเผาแบบเตาฟืน โดยส่วนนี้ใช้ตัวฟืนเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น”

ย้อนกลับไปในยุคโบราณสำหรับงานเครื่องปั้นดินเผาจากการศึกษาสังเกตธรรมชาติ สังเกตดินที่ผ่านความร้อนซึ่งจะมีความแข็งแรง ทนทานขึ้น จากยุคแรกการสร้างสรรค์อาจไม่ได้มีรูปทรงอะไรมากมาย แต่ต่อเนื่องมามีวิวัฒนาการเรื่อยมา มีรูปร่าง รูปทรงเพิ่มขึ้น และเริ่มมองในเรื่องฟังก์ชันการใช้ประโยชน์รวมถึงความงาม ฯลฯ โดยนอกจากเป็นภาชนะที่ใช้กันทั่วไป มีการสร้างสรรค์ลวดลายนำมาตกแต่งชิ้นงานให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

“เครื่องปั้นดินเผาของไทยเป็นที่รู้จักมายาวนาน ย้อนกลับไปในยุคสมัยสุโขทัยถือได้ว่ามีความรุ่งเรืองมาก และจากยุคสมัยนั้นมาเครื่องปั้นดินเผามีพัฒนาการต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ มีการสร้างงานเครื่องเคลือบดินเผาที่โดดเด่นมาโดยตลอด จวบจนยุคสมัยปัจจุบันงานเซรามิกเติบโตขึ้น มีงานเซรามิกที่นำเสนอด้วยไอเดียใหม่ ๆ หลายรูปแบบทั้ง โมเดิร์น มินิมอล ฯลฯ ทั้งมีศิลปิน ผู้สนใจสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายเพิ่มขึ้น”

อาจารย์ประจำสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา และศิลปินเซรามิก ผศ.โอภาส ให้มุมมองอีกว่า จากที่กล่าวมนุษย์สังเกต วิเคราะห์และทดลอง จากการนำขี้เถ้าที่อยู่ในเตา นำมาผสมนํ้าดินแล้วนำไปเคลือบชิ้นงาน ให้ความงาม ความน่าสนใจ จากองค์ความรู้ในเรื่องนํ้ายาเคลือบต่อมาศึกษาทดลองต่อเนื่องต่อเพื่อให้เกิดสีสันตามความต้องการยิ่งขึ้น ทั้งนี้การเคลือบขี้เถ้าจะให้สีไม่มาก จะมีให้สีนํ้าตาล สีนํ้าเงินเล็ก ๆ และสีเขียว จึงมีการทดลองเพื่อสร้างความหลากหลายในเรื่องสีมากขึ้น

งานเครื่องเคลือบดินเผายังคงพัฒนาต่อเนื่อง นอกจากเรื่องสีที่เข้ามาเพิ่มความน่าสนใจในผลงาน ปัจจุบันงานเซรามิกไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาชนะ แต่เป็นงานศิลปะที่มีเรื่องของงานดีไซน์ สร้างสรรค์ผลงานได้มากมายและหลากหลาย มีความงาม และรูปทรงที่เข้ามาปะทะความรู้สึก สื่อสารบอกเล่าแนวคิดออกเป็นรูปธรรมให้เห็นภาพ จับต้องชัดเจน อย่างเช่นความรู้สึกร่าเริงสดใสหรือหดหู่ ผลงานเซรามิกสื่อสารเล่าเรื่อง โต้ตอบอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจน

นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ในเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้การเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจเข้าถึงได้มากขึ้น อีกทั้งยังเห็นถึง ความหลากหลายของวัสดุ ที่จะไม่ใช่งานเซรามิกเพียว ๆ แต่มิกซ์เข้ากับวัสดุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ไม้ โลหะ หรือแก้ว ฯลฯ

โดยเฉพาะ แก้ว เริ่มเห็นเด่นชัด โดยศิลปินนำเข้ามาประกอบในตัวงานเซรามิก ทำให้รูปทรง รูปร่างชิ้นงานสวยงาม แปลก มีความสดใส ความเงากว่าเดิม อีกทั้งมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มเติมความสมบูรณ์ให้กับผลงาน อย่างเช่น รูปทรงที่มีความซับซ้อนมาก ๆ หรือรูปทรงขนาดเล็กจิ๋ว คอมพิวเตอร์สามารถช่วยจัดการช่วยเติมความสมบูรณ์

“งานเซรามิก เป็นเหมือนการบูรณาการศาสตร์แขนงต่าง ๆ รวมกัน จากที่เคยยกตัวอย่างแนะนำไว้ อย่าง การมิกซ์กับไม้ ถ้าผู้สร้างสรรค์มีความรู้ มีความถนัดเรื่องไม้ ทั้งนี้งานไม้มีกระบวนการขึ้นรูปอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการกลึง การแกะสลัก หากนำมามิกซ์กับเซรามิก ซึ่งในการทำงานเซรามิกเองก็มีการขึ้นรูปที่หลากหลาย หากทั้งสองส่วนนำมาผสานกันได้ก็จะเกิดเป็นผลงานที่มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น หรือ การใช้วัสดุธรรมชาติ นำดินพื้นบ้านมาใช้กับงานเซรามิก ดินพื้นบ้านจากแต่ละแหล่ง แต่ละภูมิภาค เมื่อนำมาปั้นนำมาเผาจะให้สีสันที่ต่างกัน นำสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นจุดเด่นให้กับงานเซรามิกได้เช่นกัน”

ผศ.โอภาส กล่าวเพิ่มอีกว่า เซรามิกในวันนี้เมื่อกล่าวถึงคงไม่ใช่แค่ภาชนะ แก้ว จาน กระถาง ฯลฯ แต่ก้าวไปมากกว่านั้นมาก เป็นงานคราฟต์ที่มีอัตลักษณ์ มีความเฉพาะตัว เป็นผลงานใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งเป็นของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ ฯลฯ อีกทั้ง การปั้นดินเผา การทำงานเซรามิกยังเป็นกิจกรรมยามว่าง เป็นงานอดิเรกที่ชวนให้เพลิดเพลิน ผ่อนคลายและการปั้นดินยังสร้างสมาธิ

“ศิลปะเซรามิกมีวัสดุเป็นดิน การปั้นดิน การขึ้นรูปผลงานต้องสัมผัสจับต้องดิน ดินมีความเย็นเมื่อได้สัมผัสจะรับรู้ได้ บางครั้งบางทีถ้ามีความเครียด ไม่สบายใจ การได้พัก ได้เพลิดเพลินไปกับการปั้นดิน บีบดิน กดดินเป็นรูปทรงรูปร่างต่าง ๆ การทิ้งร่องรอยลงบนดิน สัมผัสดินจะช่วยผ่อนคลาย ทั้งยังเสริมสร้างสมาธิได้อย่างดีเยี่ยม”

การปั้นดินยังช่วยเติมต่อจินตนาการ ช่วยเรื่องสมาธิสั้น เป็นศิลปะที่สามารถนำมาออกแบบเป็นกิจกรรมให้กับ เด็ก ๆ ในช่วงปิดเทอมได้ใช้เวลาว่างอย่างคุ้มค่า หรือเป็นกิจกรรมให้กับ ผู้สูงอายุ ได้ผ่อนคลาย ได้กระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อ การปั้นดินได้สัมผัสดินจึงเป็นอีกกิจกรรมที่ช่วยเติมต่อความสุข มีผลดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจ เป็นศิลปะบำบัดอย่างหนึ่ง

ผศ.โอภาส ปันประสบการณ์เล่าเพิ่มอีกว่า ครั้งหนึ่งให้ผู้ป่วยมะเร็งลองปั้นดิน ได้บีบ ได้กด ออกแรงสนุกไปกับชิ้นงานก็ช่วยให้ผ่อนคลาย เติมความสุขกับผู้ป่วย เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กสมาธิสั้น สิ่งที่เห็นชัด เมื่อได้เรียนรู้เพลิดเพลินไปกับการปั้นดินคือพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ดีขึ้น มีอารมณ์ที่แจ่มใส โต้ตอบพูดคุย เรียงลำดับขั้นตอนการทำงานดีขึ้น ฯลฯ

ปัจจุบันจะเห็นว่ามีสตูดิโอเปิดรองรับกลุ่มผู้เรียนมากขึ้น ทั้งด้านเทคนิคการเผา ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามมีเทคนิคเรื่องน่ารู้เพิ่มขึ้นมาก มีการเวิร์กช็อปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเซรามิก โดยงานศิลปะเซรามิกรวมศาสตร์ความรู้หลายด้านไว้ด้วยกัน จากที่กล่าวเซรามิกสามารถสร้างสรรค์เป็นงานจิวเวลรี่ เป็นเครื่องประดับ เป็นของตกแต่งบ้าน สร้างสรรค์ได้หลากหลายขึ้นกว่าเดิม และในผลงานที่มีเทคนิคและกระบวนการสร้างสรรค์ที่ประณีตยังเป็นผลงานศิลปะชั้นเลิศ มีคุณค่าเอกลักษณ์ เป็นงานมาสเตอร์พีซที่ไม่ซํ้าใคร

ย้อนมาที่วัสดุดินที่ใช้ในงานเซรามิก นอกจากดินสำเร็จรูป ดินที่นำมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินเซรามิก ผศ.โอภาส ปันประสบการณ์เพิ่มอีกว่า ดินที่นำมาใช้ที่ผ่านมายังมีการพัฒนาสร้างสรรค์ นำวัสดุทดลองใหม่ ๆ มาผสมผสานสร้างสรรค์ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโครงสร้าง ทนความร้อน เพิ่มคุณสมบัติที่ดีเพิ่มขึ้นให้กับงานเซรามิก โดยผู้สร้างสรรค์เป็นดั่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลอง ค้นคว้า สร้างความงาม ความแตกต่าง สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับงานศิลปะแขนงนี้อีกด้วย

“ศิลปะเซรามิกยังส่งต่อเป็นงานอดิเรก ทั้งเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มร่วมกันทำงานศิลปะ จากที่กล่าวการปั้นดิน การทำงานเซรามิกเหมาะกับทุกวัย เหมาะที่จะเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งแม้จะไม่มีพื้นฐานศิลปะก็ไม่เป็นอุปสรรค หรือแม้แต่ดินปั้น แม้ไม่มีดินเฉพาะก็สามารถประยุกต์ใช้ดินเหนียวทั่วไปนำมาฝึกปั้นได้”

ดินทั่วไปเนื้ออาจไม่ละเอียดหรือมีสีขาว การนำไปเพนท์สี เคลือบสีจะมีความต่างกัน จากที่กล่าวดินเหนียวเมื่อนำไปเผาดินจะออกมาเป็นสีส้มซึ่งสามารถนำมาฝึกปั้นรูปทรงภาชนะอย่างง่าย ๆ ได้ เป็นอีกกิจกรรมที่จะเพิ่มพูนการเรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้สนุกไปกับการปั้นดินและเรียนรู้ศิลปะเซรามิก

อาจารย์ประจำสาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา และศิลปินเซรามิก ผศ.โอภาส ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า จากงานอดิเรกอาจนำไปสู่การมีสตูดิโอสร้างผลงานในรูปแบบของตนเอง สร้างงานศิลปะงานคราฟต์ที่มีเอกลักษณ์ สร้างงานอดิเรกที่เป็นอาชีพเป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าเสน่ห์งานศิลปะเซรามิก

ศิลปะที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ให้ความผ่อนคลายดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ