สัปดาห์นี้ จะพาไปอัพเดทข่าวดี!! กับทางด่วนสายใหม่ชื่อใหม่สายเกษตรนวมินทร์วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก จะมาช่วยทะลวงปัญหารถติดหนักบนถนนเกษตรฯนวมินทร์ เติมเต็มโครงข่ายทางพิเศษในกรุงเทพฯ เป็นทางเลือกของประชาชน ที่ย่นการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ. ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอ โครงการก่อสร้างทางด่วนเกษตรฯนวมินทร์วงแหวนตะวันออก หรือชื่อเดิมทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 (เกษตรฯนวมินทร์) เชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

เวลานี้ กทพ. มีความพร้อมมาก ทั้งเรื่องงานออกแบบก่อสร้าง และงบประมาณจากเงินกองทุนรวมไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) ที่จะใช้ก่อสร้างเพื่อเพิ่มโครงข่ายระบบทางพิเศษ แก้ไขปัญหาการจราจรวิกฤติบนถนนเกษตรฯนวมินทร์ เป็นทางเลือกการเดินทางของประชาชน หาก ครม.เห็นชอบโครงการ จะเข้าสู่ขั้นตอนเปิดประกวดราคา (ประมูล) ได้ทันที คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 64 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดบริการประมาณปี 67

นอกจากนี้ กทพ. เตรียมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการก่อสร้างฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแครายลำสาลี (บึงกุ่ม) พร้อมกับการก่อสร้างทางด่วนเกษตรฯ-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก ซึ่งมีช่วงทับซ้อนกันประมาณ 6 กม. เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรระหว่างการก่อสร้างแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้เหลือน้อยที่สุด

งานแรกที่ผู้รับเหมาต้องดำเนินการคือ เคาะปล่องคอนกรีตที่ครอบปิดหัวเสาตอม่อที่ก่อนหน้านี้ทำไว้เพื่อป้องกันการสึกกร่อนออก และปรับปรุงเสริมกำลังเสาตอม่อทางด่วน เพื่อรองรับการใช้งานจริง โดยยังคงใช้เสาเข็ม และฐานรากเดิม

เสาตอม่อรวม 281 ต้นตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 351 สายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์-​คันนายาว หรือที่นิยมเรียกกันว่า ถนนเกษตรฯนวมินทร์ ซึ่งได้สร้างเผื่อไว้สำหรับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N) มาตั้งแต่ก่อสร้างถนนสายนี้นานเกือบ 25 ปี ที่ผ่านมาจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล และตรวจสอบสภาพของเสาอยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า เสาเข็มยังคงมีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยผู้ว่าการการทางพิเศษฯ ยืนยันความแข็งแรงของเสาตอม่อ

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้าง ช่วงทดแทน N1 (แคราย-ม.เกษตร) นั้นอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของทางเลือก 3 รูปแบบ ได้แก่ อุโมงค์ทางด่วน (แนวแยกรัชวิภาเชื่อมต่อโครงการ Missing Link-แยกเกษตร, ทางด่วนยกระดับผ่านหน้า ม.เกษตร (แนวถนนงามวงศ์วาน-คลองเปรมประชากร) และอุโมงค์ทางด่วน (ผ่านหน้า ม.เกษตร-แยกบางเขน-ประชาชื่น) รวมถึงอัพเดทผลการศึกษาที่เคยศึกษาไปแล้วเพื่อให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และออกแบบการก่อสร้างอีก 6 เดือน จากนั้นจะนำไปหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อีกครั้ง

เบื้องต้นการก่อสร้างทางด่วนสายใหม่จะแบ่งเป็น 4 สัญญา มีงานโยธา 3 สัญญา และงานระบบ 1 สัญญา โครงสร้างทางด่วนเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ด้านละ 2 ช่อง จุดเริ่มต้นอยู่เลยอุโมงค์แยกเกษตร 1 กม. ก่อนถึงคลองบางบัว เชื่อมทางด่วนฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จากนั้นวิ่งตรงไปเชื่อมวงแหวนตะวันออกฯ มีจุดขึ้นลงบริเวณแยกเกษตร นวลจันทร์ และถนนวงแหวนฯ ช่วงทับซ้อนกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โครงสร้างทางด่วนจะอยู่ด้านบนส่วนรถไฟฟ้าอยู่ด้านล่าง สาเหตุที่ต้องก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากตอม่อที่สร้างไว้รองรับน้ำหนักเฉพาะระบบทางด่วนเท่านั้น ไม่สามารถรองรับรถไฟฟ้าได้

สำหรับอัตราค่าผ่านทาง 20 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ และ 40 บาท สำหรับรถ 6-10 ล้อ จำกัดการใช้งานไม่ให้รถมากกว่า 10 ล้อ ใช้บริการเนื่องจากเสาตอม่อที่สร้างไว้ไม่ได้ออกแบบรับรถใหญ่ ปีแรกที่เปิดใช้คาดว่าจะมีรถใช้บริการ กว่า 110,000 คันต่อวัน

ได้เวลาเคาะสนิม 25 ปี ตอม่อ (ร้าง) กำลังจะกลายเป็นทางด่วนสายใหม่วิ่งฉิว

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…