จากสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ส่งผลกระทบกับทุกคนบนโลก ไม่มากก็น้อยทั้งชีวิต ความเป็นอยู่ และผลกระทบต่อสุขภาพ “ทีมข่าวเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “นพ.โอภาส การย์กวิงพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข” ถึงมาตรการเชิงรุก และมาตรการเชิงรับ จากผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพของคน และสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข จะต้องรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร  

โดย “ปลัดโอภาส” เปิดประเด็นว่า ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาถึงสุขภาพของคน ที่เห็นได้ชัด เช่น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น อย่างน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุรุนแรง อากาศร้อนผิดปกติ จนถึงขั้นมีคนเสียชีวิต รวมถึงโรคระบาดชนิดใหม่ๆ หรือโรคระบาดที่เคยหายไปแล้วกลับมาให้เราได้เห็นอีก รวมถึงสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคก็เพิ่มจำนวนขึ้น อย่างเช่น “ยุง” หรืออย่างช่วงนี้ที่คนกังวล ห่วงใย คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5

ทั้งนี้ ในแง่ของคำแนะนำ ป้องกัน รักษาโรค นั้น กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ได้ออกคำแนะนำถึงวิธีปฏิบัติตัว มีแนวทางการรักษา และพร้อมรับมืออยู่แล้ว ซึ่งเป็นเพียงแค่การ “ตั้งรับปัญหา” เท่านั้น สุดท้ายเราต้องมามองที่ “สาเหตุ” หากแก้ต้นเหตุไม่ได้ เราก็ต้องมารับสภาพปัญหาที่ปลายเหตุทุกครั้ง ดังนั้นเราต้องป้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร เผาสวน เผาป่า ทำไร่ แม้แต่การใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล การใช้ยานพาหนะต่าง ๆ “ถ้าจะแก้ปัญหาจริง ๆ คือ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกัน คงไม่ต้องไปชี้ว่าใครต้องทำอะไร อันไหน ใครทำได้ก็ทำ”

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนตั้งแต่ประมาณปี 2561 หลายเรื่อง เช่น การดำเนินการตามแนวทาง 3 R (Reduce, Reuse, Recycle) รณรงค์ใช้ “ถุงผ้าใช้แทนถุงพลาสติก” โดยให้โรงพยาบาลงดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งตอนแรกอาจจะขลุกขลักกันบ้าง แต่ตอนนี้เข้าใจว่ากลายเป็นวัฒนธรรมแล้ว คนที่ไปหาหมอโรงพยาบาลก็เอาถุงผ้าไปใส่ยา ทั้งนี้ ข้อมูล ปี 2565 ช่วยประหยัดการใช้ถุงพลาสติกได้ 300,000 กิโลกรัม ใน 6 เดือน ประหยัดงบฯ ไป 24 ล้านบาท ดังนั้นถ้าคิด 1 ปี เท่ากับว่าลดการใช้ถุงพลาสติกทั้งปี 600,000 กิโลกรัม และประหยัดงบฯ 48 ล้านบาท ตอนนี้ก็ยังทำต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการลดใช้กล่องโฟม มีกิจกรรมรณรงค์ลดฝุ่น ลดการใช้พลังงานที่ไม่สะอาด

ตลอดจนนโยบาย Green & Clean Hospital คือ การพัฒนาโรงพยาบาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไฟฟ้า น้ำ น้ำมัน ลดการใช้กระดาษ และการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล การกำจัดขยะติดเชื้อและไม่ติดเชื้อตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัย

และนโยบายที่เราดำเนินการต่อเนื่องในปี 2566 คือ การใช้ “พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาเซล” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน 1 พันกว่าแห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นับรวมที่มีการถ่ายโอนไปด้วยก็ประมาณกว่า 1 หมื่นแห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนกลาง และกรมต่างๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานสามารถพิจารณาได้ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ 

photovoltaics in solar power station energy from natural. Close-up.

@ ความคืบหน้าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของกระทรวงฯ เป็นอย่างไรบ้าง   

เราตั้งเป้าว่าถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ควรติดตั้งอย่างน้อย 1,000 กิโลวัตต์ ต่อโรง โรงพยาบาลขนาดกลาง ติดประมาณ 500 กิโลวัตต์ ต่อโรง โรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ อาจจะ 100 กิโลวัตต์ ต่อโรง รวมทั้งอาคารสำนักงานต่างๆ หากหน่วยเล็กมากๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ อาจจะติดตั้งสัก 10 กิโลวัตต์ ต่อโรง โดยเป้าหมายรวม 2,038 แห่ง ใช้งบประมาณ 6,589.7 ล้านบาท จะลดค่าไฟได้ปีละ 1,424 ล้านบาท ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 156,616.3 ตัน ดังนั้นถ้าดูตามนี้ 4-5 ปีกว่าๆ ก็คุ้มทุนแล้ว ยังไม่รวมเครดิตคาร์บอนที่เราจะขอเงินมาทดแทนก็จะยิ่งเร็วขึ้น

โดยแผนปี 2566 จะมีการติดตั้งทั้งหมด 1,856 แห่ง ข้อมูลเบื้องต้นจนถึงวันที่ 8 มี.ค. 2566 ติดตั้งแล้ว 239 แห่ง คิดเป็น 12.93 เปอร์เซ็นต์ รวม 37,935 กิโลวัตต์ สร้างไฟฟ้าได้ปีละกว่า 62 ล้านหน่วย ประหยัดค่าไฟ 276 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ปีละ 26,933.85 ตัน โดยแบ่งเป็น โรงพยาบาลศูนย์ 10 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 38 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 151 แห่ง สสจ. 15 แห่ง สสอ. 25 แห่ง

“การลดการเกิดก๊าซคาร์บอนฯ สามารถนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ กำลังคุยกับกระทรวงพลังงานอยู่ว่า จะกลับมาเป็นเงินทดแทนช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง จะเห็นว่านโยบายนี้ 1.ลดการใช้พลังงาน ประหยัด ในระยะยาวโรงพยาบาลจะลดค่าใช้จ่ายสามารถนำเงินที่เหลือไปพัฒนางานของตนเองได้”  

ทั้งนี้ เรากำหนดว่าต้องทำให้ครบใน 3 ปี แต่ในเชิงนโยบายขอให้ทำให้เร็วที่สุด หน่วยงานไหนที่ยังไม่พร้อม ก็ขอให้มีแผนว่า จะมีการติดตั้งเมื่อไหร่ หน่วยงานที่ไม่พร้อม เห็นว่ามีอยู่ 2 เหตุผล คือบางครั้งสถานที่แคบมาก หากไม่ได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น เพราะอย่างที่ทราบว่า อาคารของเราค่อนข้างเก่า หากติดอะไรที่หนักมาก อาจจะมีปัญหาทางวิศวกรรมได้ ดังนั้นต้องวางแผน 2. กรณีไม่มีเงิน แต่มีสถานที่เหมาะสม ก็ให้ใช้วิธีการเช่า

@ การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์จะกระทบกับการใช้งานอุปกรณ์การแพทย์หรือไม่ และโซลาร์เซลล์ตอบโจทย์หรือไม่

ปกติโรงพยาบาลจะมีระบบสำรองไฟ ตามต่างจังหวัดจะมีปัญหาไฟตก ไฟดับบ้าง ดังนั้นโรงพยาบาลแต่ละแห่ง จะมีเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ ไฟระบบไหนดับ เครื่องปั่นไฟก็จะทำงานทดแทน ดังนั้นคงไม่มีปัญหา และที่ผ่านมาสามารถจัดการได้ดี ไม่มีปัญหา

@ ในด้านการประสานความร่วมมือกับประชาชนเป็นไปอย่างไร

ตามต่างจังหวัด โรงพยาบาลถือว่าใกล้ชิดกับชุมชน เบื้องต้นเราก็อยากให้โรงพยาบาลเป็นต้นแบบให้หน่วยงานราชการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน โรงงานได้นำเป็นต้นแบบว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสังเกตดู เวลาโรงพยาบาลทำอะไรก็จะมีผลต่อชุมชนด้วย  

สิ่งที่อยากฝาก คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาของทุกคน โรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ เวลาเกิดโรคกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นหน่วยงานปลายทางที่ต้องรักษา แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ เรื่องการป้องกัน ซึ่งมีทั้งภาคขนส่ง อุตสาหกรรม จราจร และการใช้ชีวิตของทุกคน คงไม่ต้องไปโทษใคร แต่ให้เริ่มที่ตัวเรา อย่างกระทรวงสาธารณสุข เราก็เริ่มที่ตัวเราก่อน เริ่มที่หน่วยงานของเรา ให้คนเห็นว่าทุกคนมีส่วนร่วมได้ และการมีส่วนร่วมก็ไม่ใช่ว่าต้องใช้เงินเยอะ ตนคิดว่าปัญหาหนึ่งของการประหยัดพลังงาน คือ การใช้พลังงานทดแทนทั้งหลายมีราคาแพงมาก ที่ราคาถูกไม่ค่อยมี ถ้าทดแทนแล้วถูกคนก็จะใช้ โซลาร์เซลล์น่าจะคุ้มค่าที่สุด เราเลยเริ่มทำตรงนี้ “สุดท้ายก็ต้องย้ำว่า ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน”.