กลับกันภาคประชาชนเองก็กำลังจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น นอกเหนือ 1 สิทธิ ออกเสียง อีกหน้าที่คือสอดส่อง “สังเกตการณ์” เลือกตั้ง ซึ่งบางคนอาจเลือกเป็นอาสาสมัคร เฝ้าระวังตั้งแต่เข้าคูหากากบาท ไปจนถึงขั้นตอนนับคะแนน

“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” สัปดาห์ส่งท้าย ขอเปิดพื้นที่อีกครั้งกับการส่งเสียง “กระตุ้น” การสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยเฉพาะมุมมองกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้ที่คลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นกระบอกเสียงสำคัญ ให้ฝากความหวังถึงการเลือกตั้งโปร่งใส ได้รัฐบาลใหม่ไปกำหนดอนาคตของประเทศ

นายนิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สะท้อนความสำคัญของการสังเกตการณ์เลือกตั้งว่า การนับคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ (real time) เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล และส่วนตัวก็อยากให้มีรายงานผลเช่นนี้ เพื่อป้องกันการบิดเบือนของข้อมูล

หากไม่มีอาจเกิดการคาดเดาไปต่าง ๆ นานา กระทั่งเกิดการบิดเบือน ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับความเชื่อมั่นใน “ผลการเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ประชาชนได้เห็นว่าการเลือกตั้งมีความโปร่งใส คะแนนมีความถูกต้อง บทบาทของการสังเกตการณ์ จึงถือว่าสำคัญมาก ในการช่วยเป็นหูเป็นตาและเป็นตัวแทนประชาชน ยืนยันความโปร่งใสของการนับคะแนน

สำหรับวิธีจับตาเลือกตั้ง มองว่ามีวิธีการหลายรูปแบบ แต่สำคัญคือ การอนุญาตให้ประชาชนมีส่วนร่วม และการสร้าง Mindset ของการเป็น Active Citizen ให้กับประชาชน เพราะเมื่อประชาชนมีความเป็น Active Citizen แล้ว ลำดับถัดมาคือการให้ความรู้ความสามารถของพวกเราในการจับตาการเลือกตั้ง

“ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เราจะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Platform ในการรายงานผล การรวมตัวของภาคประชาชนในการร่วมเป็น Network จับตาสิ่งผิดปกติ และการรายงานผลเพื่อความโปร่งใส”

ทั้งนี้ ระบุว่า การตรวจสอบของภาคประชาชน และอาสาสมัครสังเกตการณ์ ที่ล้วนเป็นตัวแทนประชาชน จะมีพลังมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนและความเชื่อมั่นของประชาชน ส่วนตัวอยากให้เปิดรับอาสาอย่างเปิดกว้าง มีความโปร่งใสในการคัดเลือกเข้าเป็นตัวแทน และการนำเทคโนโลยีที่มีมาใช้อย่างเต็มที่

“เรามี Startup หรือผู้ประกอบการมากมายที่มีนวัตกรรมดี ๆ ในการเข้ารหัสข้อมูล การลงทะเบียน และการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากทำได้แบบนี้ ทั้งการคัดเลือกอย่างถูกต้องเปิดกว้าง โปร่งใส การมีระบบที่ดีในการบริหารจัดการข้อมูล ผมเชื่อว่าจะเป็นพลังที่ดีและมี Impact มาก จนเป็นมาตรฐานใหม่ของการเมืองไทย”

ส่วนบทบาทของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน กับการเลือกตั้งรอบนี้ เชื่อว่านอกจากเป็นเรื่องการให้ข้อมูลแล้ว ยังมีผลมากกับการตรวจสอบการเลือกตั้ง เพราะรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย การเลือกตั้งครั้งนี้ จะได้เห็นพัฒนาการด้านนวัตกรรมที่นำมาใช้ร่วมกับสื่อโซเชียลมีเดียอีกมากมาย ทั้งการทำ Live Streaming การสร้าง Real-Time Interactive ทั้งหมดก็เพื่อสร้างการมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ซึ่งตนสนับสนุนให้สื่อมวลชน หรือภาคประชาชนนำเทคโนโลยีดี ๆ แบบนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

“นอกจากแค่ทำคอนเทนต์ทั่วไปแล้ว ขอให้ขยับเข้ามาสู่เรื่องการตรวจสอบความโปร่งใสของการเลือกตั้งด้วย ผลพลอยได้ของประเทศคือ ประชาชนที่ติดตามได้เห็นความโปร่งใส และความเป็นธรรมในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย”

นายนิติ ฝากถึงบทบาทของสื่อมวลชนที่อาจต้องเพิ่มมากขึ้นในการเลือกตั้งที่ถูกจับตาอย่างหนักว่า ควรต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องกติกาของการเลือกตั้ง ทั้งในช่วงก่อน และการนับคะแนน ปัจจุบันกลุ่มนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ตื่นตัวกันมาก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การเลือกตั้งมีกติกาที่เฉพาะพอสมควร ส่วนนี้ต้องเร่งสื่อสารให้เข้าถึงทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มนักศึกษา ในทุก ๆ ปี จะเห็นบัตรเสีย หรือมีผู้ทำผิดกติกาการเลือกตั้งโดยไม่ได้ตั้งใจเสมอ

อีกทั้งเรื่องการเข้าถึงช่องทางใหม่ ๆ ปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารเป็นจำนวนมาก และข้อมูลที่ประชาชนได้รับในแต่ละวัน ก็มีทั้งข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นเท็จ ในช่วงเวลานี้ จะมีบุคคลที่ต้องการเป็นข่าวอยู่มาก ซึ่งเป็นสีสันทางการเมือง ในฐานะสื่อ จึงฝากใช้วิจารณญาณในการนำเสนอ และให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างมีความรับผิดชอบด้วย.