สภาพผึ้งแตกรังของบรรดาแรงงานในเมืองกรุงเทพมหานคร แตกกระสานซ่านเซ็น กลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เมื่อมีการสั่งปิดล็อกแคมป์คนงาน กลายเป็นภาพใกล้เคียงช่วงเดือนเม.ย. ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ที่รัฐบาลไม่ได้ยกเลิกวันหยุด จาก “คลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ” ใจกลางเมืองกรุงยกระดับให้เจ้าเชื้อโควิดระบาดใหญ่ ระลอก 3 กระจายไปทั่วประเทศ

แต่เหตุการณ์ปลายเดือนมิ.ย. น่าหวั่นวิตกยิ่งกว่าเดือนเม.ย. ปัจจุบันในประเทศไทยต้องเผชิญกับเจ้าเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ถึง “3 สายพันธุ์” ด้วยกัน อัลฟา (อังกฤษ B117) สายพันธุ์นี้ทำให้คนไทยติดเชื้อและเสียชีวิตมาตั้งแต่เดือนเม.ย. ทะลุเกินกว่า 2 พันคนแล้ว  ขณะที่เดือนมิ.ย. เดลตา (อินเดีย B.1.617.2) เริ่มกระจายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ ขณะที่ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเจอ เบตา (แอฟริกาใต้ B.1.351)ที่หลุดมาจากมาเลเซียเล่นงานซ้ำเข้าไปอีก จากวิกฤติ โรงพยาบาลเตียงล้น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้เริ่มไปโผล่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนต้องจัดหาทั้ง รพ.สนาม เพิ่มเติมตามหน่วยงานภาครัฐ และใช้โรงแรมมาเป็นฮอสพิเทล (Hospitel)ไว้ดูแลกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง

ที่สำคัญยอดติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้ขยับทุบสถิติ 2 วันติด ๆ กันเลยทีเดียว  ศุกร์ 2 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะยานสูงถึง 6,087 ราย เสียชีวิต 61 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 270,921 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 2,141 ราย )

สงขลางัดกฎเหล็กใช้ “เคอร์ฟิว” 1 เดือน 

ทีมข่าว 1/4 Special Report ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกาะติดสถานการณ์วิกฤติโควิดระลอกนี้ พบว่าค่อนข้างหนักหนาสาหัสเอาการ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด ติดอยู่ใน 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง อย่างเช่นเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา จ.ยะลา 201 ราย ปัตตานี 169 ราย สงขลา 167 ราย และ นราธิวาส 124 ราย สำหรับพื้นที่จ.สงขลา ถือเป็นหัวเมืองใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดน คลัสเตอร์ช่วงนี้จึงมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีโรงงานอาหารทะเลจำนวนมาก ทั้งใน อ.หาดใหญ่, สทิงพระ ยอดตัวเลขติดเชื้อรายใหม่จึงขึ้น ๆ ลง ๆ บางวันก็ไปแตะระดับกว่า 200 รายก็มี  จนเริ่มประสบปัญหาใหญ่คือเรื่องของเตียงคนไข้ และบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ทำให้ นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา ตัดสินใจ มีคำสั่งประกาศเคอร์ฟิวในจ.สงขลา (ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.-29 ก.ค.64)

โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ประกาศขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00- 04.00 น. เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนการเดินทางระหว่างจังหวัดให้ประชาชนผู้ที่มีความจำเป็นเดินทางต้องขอเอกสารการเดินทางจาก อำเภอ, โรงพัก, เทศบาล และ อบต. รวมถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินก็ต้องแจ้งขอเอกสารการเดินทางเช่นกัน ถ้าไม่มีเอกสารที่ออกโดยราชการ สายการบิน จะไม่อนุญาตให้เดินทาง ถือเป็นการควบคุมการเดินทางขั้นสูงสุด ส่วนร้านอาหาร ยังอนุญาตให้เข้าไปนั่งกินได้ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ หรือปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางจังหวัด

นายจารุวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรม และแคมป์คนงานก่อสร้าง เพราะจะทำให้แรงงานกระจายเดินทางออกจากพื้นที่ ทำให้การควบคุมการระบาดไม่เป็นผล แต่จะใช้วิธีการ คัดกรองเชิงรุก นำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล ส่วน กลุ่มเสี่ยง จะแยกส่งไปยังสถานที่กักตัวดูอาการ ผู้ติดเชื้อในโรงงานก็จะสั่งปิดการผลิตเป็นแผนกๆไป เพราะหากสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากกระทบกับคนงานที่ไม่ติดเชื้อแล้ว ยังกระทบกับโรงงาน ซึ่งต้องผลิตสินค้าตามสัญญาอีกด้วย จึงไม่เป็นผลดีทั้งโรงงาน และ คนทำงาน โดย กลุ่มคนงานติดเชื้อ โรงงานจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในเรื่องการจัดหาสถานที่กักตัวเพื่อดูอาการ เรื่องอาหาร เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะคนงานมีการทำประกันสังคมเอาไว้ นอกจากนี้ยังได้จัดโรงแรม 11 แห่งใน อ.หาดใหญ่ ที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเป็น สถานที่กักตัว ของกลุ่มเสี่ยงจะมีแพทย์ พยาบาล คอยดูแล

ผวจ.สงขลา กล่าวต่อว่า  มาตรการประกาศเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการเดินทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ แล้ว ยังเปิดรพ.สนาม เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง รวมเป็น 13 แห่ง คือ รพ.สนาม อ.นาหม่อม รับได้ 100 เตียง และ รพ.สนาม อ.บางกล่ำ 65 เตียง และหากยังไม่เพียงพอ ก็จะดำเนินการเปิดเพิ่มขึ้น ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ของ จ.สงขลา แม้ว่าจะงานล้นแต่ยังรับได้กับสถานการณ์  ส่วนการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นทางออกสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่ดีที่สุดได้ทำหนังสือถึง ศบค.เพื่อขอเพิ่มจำนวนวัคซีนและจัดส่งให้เร็วขึ้น

“ยะลา-ปัตตานี” จัดหา รพ.สนามเพิ่ม

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งเป็นที่ตั้ง ศูนย์ดาวะห์ ถือเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ จนแพร่ระบาดลุกลามไปยัง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอีกหลายจังหวัดนั้น (ยอดติดเชื้อสะสมของ จ.ยะลา มากกว่า 2 พันคน) โดยสถานการณ์ในอำเภอเมืองยะลา จะพบผู้ติดเชื้อมากสุด จนเตียงไอซียูเต็มหมด รองลงมาเป็นอ.เบตง นายชัยสิทธิ์ พานิชพงษ์ ผวจ.ยะลา เปิดเผยว่า  จ.ยะลา เปิดใช้ โรงพยาบาลสนาม ตั้งอยู่ภายในอาคาร ของโรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ใน ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา เปิดใช้แล้ว 4 อาคาร และยังสามารถขยายเพิ่มได้อีก ส่วนโรงพยาบาลสนามที่เป็นแพท่องเที่ยว อยู่ในอ.ธารโต ได้สั่งยกเลิกไปแล้วโดยหาสถานที่ใหม่ได้แล้ว

ส่วนในพื้นที่ จ.ปัตตานี คลัสเตอร์ใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม แพปลา และโรงเรียนสอนศาสนา นายราชิต พุ่มสุด ผวจ.ปัตตานี เปิดเผยว่า เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวัดจึงได้กำหนดให้ 4 อำเภอเป็น พื้นที่สีแดง คือ อ.เมืองปัตตานี, ไม้แก่น, กะพ้อ และ แม่ลาน สั่งปิด  10 ตำบล 17 หมู่บ้าน และมัสยิด 15 แห่ง รวมถึงมัสยิดเล็กที่ไม่มีทะเบียนอีก 9 แห่ง การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมาก ทำให้ รพ.ในพื้นที่สีแดง 4 อำเภอเต็มทั้งหมด จึงได้ตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง และอาจจะต้องเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ได้มีกลุ่มนักศึกษาแพทย์ ม.สงขลานครินทร์  (วิทยาเขตปัตตานี) ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาก็ได้อาสามาช่วยให้กับ รพ.ปัตตานีเป็นเวลา 3 เดือน เพราะบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนก็ต้องกักตัวจำนวนมาก

สาเหตุของการระบาดอย่างรวดเร็วเกิดจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) มาจากพื้นที่ จ.ยะลา กลับเข้าไปหมู่บ้านอยู่กับครอบครัว แล้วไม่ยอมรายงานตัวทำให้ติดคนในครอบครัวแล้วกระจาย กันอยู่ภายในชุมชน ขณะนี้มีการให้เร่งตรวจสอบ กลุ่มเสี่ยง ที่ปกปิดข้อมูลไม่ยอมมารายงานตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสาธารณสุข ไปคัดกรองโรคที่ รพ.สต. หรือ รพ.ใกล้บ้าน ที่สำคัญที่สุดตอนนี้ทุกคนที่เดินทางจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามายัง จ.ปัตตานี จะต้องตรวจเอกสารอย่างเข้มงวด รายงานตัวที่ด่านตรวจเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก หากไม่มีเอกสารอนุญาตจากต้นทางจะเข้า จ.ปัตตานี ไม่ได้ 

สำหรับในกลุ่ม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จ.นราธิวาส จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยที่สุด แต่ในพื้นที่ อ.แว้ง หมู่บ้านที่อยู่ชิดกับชายแดนไทย-มาเลเซีย ยังคงปิดและคุมเข้มอยู่  หลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตาหลายคนไม่แสดงอาการ นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไม่ยอมเข้าสู่การรักษา บางส่วนหลบซ่อนในหมู่บ้านจนติดเชื้อกันเองในครอบครัวแล้วระบาดเข้าไปในชุมชน ทำให้ทางจังหวัดปัตตานี ต้องเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาเชิงรุก สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขดำเนินการนำตัวมาตรวจคัดกรองเพื่อส่งไปกักตัวอยู่โรงพยาบาล 

ภาพรวมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีประชากรรวมกันประมาณ 2.6 ล้านคน ในพื้นที่ จ.ยะลา มีผู้ได้ฉีดวัคซีน 4.54%, ปัตตานี ฉีดวัคซีน 4.38% และนราธิวาส ฉีดวัคซีน 7% จึงถือว่ายังน้อยมากกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังวิกฤติไม่แพ้พื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล นอกจากนี้พบปัญหาด้วยว่า หลายพื้นที่ยังมีวัคซีนให้ฉีด แต่ไม่มีผู้มาฉีด เพราะความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและบางส่วนก็กลัวจะเกิดผลข้างเคียงตามที่เป็นข่าว ตอนนี้ทำให้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แก้ปัญหาเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ถึงความจำเป็นในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างเต็มที่.