ก่อนหน้านั้น ฝรั่งเศสทำสงครามกับราชอาณาจักรปรัสเซีย แล้วเป็นฝ่ายปราชัย เมื่อปี 2414 ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น กลายเป็นแรงผลักดันให้ฝรั่งเศสเพิ่มความมุ่งมั่น เดินหน้าขยายอิทธิพลและแสวงหาดินแดนใหม่ เพื่อให้อยู่ภายใต้อาณานิคมของตัวเอง นัยว่าเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศ จากสงครามที่เพิ่งผ่านพ้น

ฝรั่งเศสพุ่งเป้าหมายมาที่ภูมิภาคอินโดจีน เพื่อคานอำนาจกับอังกฤษ ในเวลานั้นระหว่างปี 2414-2418 เกิดความรุนแรงจากกองกำลังฮ่อ ซึ่งตระเวนปล้นสะดมตามหัวเมืองประเทศราชของสยาม ฝรั่งเศสที่ปกครองลาวและเวียดนามอยู่ เห็นดังนั้นจึงเสริมกำลังทหารเช่นกัน และมีการกล่าวหาว่า ปฏิบัติการปราบปรามจีนฮ่อของสยาม เป็นการละเมิดดินแดน

ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศส “ถือโอกาส” ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่ โดยส่งนายโอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง นำคณะเข้ามาสำรวจ ส่งผลให้สยามตื่นตัวในการสำรวจพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนที่เช่นกัน ซึ่งจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของราชอาณาจักร จึงมอบหมายให้นายเจมส์ แมคคาร์ธี ที่ปรึกษาชาวอังกฤษ หรือพระยาวิภาคภูวดล สำรวจและจัดทำพื้นที่บริเวณภูมิภาคทางเหนือ จนถึงแคว้นสิบสองจุไท แต่ไม่สามารถตกลงกับฝรั่งเศสได้

แม้สยามเป็นฝ่ายประนีประนอม ด้วยการยกแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อป้องกันไม่ให้ความตึงเครียดลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสซึ่งรู้ว่า สยามไม่สามารถดูแลและจัดการหัวเมืองชายแดนได้อย่างทั่วถึง เดินหน้ายกระดับกดดันสยาม เนื่องจากต้องการยึดครองดินแดนทั้งหมดตลอดแนวชายฝั่งแม่น้ำโขง และกีดกันไม่ให้อังกฤษเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

การ์ตูน “The French Wolf and the Siamese Lamb” ในนิตยสาร “Punch” ของสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2436

สถานการณ์ตึงเครียดดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดแตกหัก เมื่อเกิดการปะทะระหว่างกองทัพสยามกับฝรั่งเศส ที่เมืองคำม่วน เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2436 ส่งผลให้ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 12 นาย หนึ่งในนั้นคือทหารชื่อ “กรอสกูแรง” และทหารไทยเสียชีวิต 6 นาย เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่ฝรั่งเศส โดยกล่าวหาว่า “สยามฆาตกรรมกรอสกูแรง” และเรียกร้องความรับผิดชอบ

ขณะที่สยามเตรียมความพร้อมทั้งการเจรจา และการต่อสู้ทางทหาร แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นย้ำกับทุกภาคส่วน ให้ใช้กลยุทธ์เจรจาเป็นสำคัญ กระนั้น ความพยายามประนีประนอมครั้งนี้ไม่สัมฤทธิผล ฝรั่งเศสส่งกองเรือปืนมาถึงปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2436 เพื่อกดดันสยามถึงขีดสุด โดยทหารประจำป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ไม่สามารถต้านทานได้ กองเรือปืนจึงสามารถเทียบท่ายังสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส

ด้านปาวียื่นคำขาด 6 ข้อ ให้สยามต้องยอมรับภายใน 48 ชั่วโมง มิเช่นนั้นฝรั่งเศสจะถอนคณะราชทูต และปิดปากอ่าวที่เป็นน่านน้ำของสยามต่อไป โดยเงื่อนไขรวมถึง การชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์ การวางเงินประกัน 3 ล้านฟรังก์ และการที่สยามต้องสละ “การกล่าวอ้าง” ว่าครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายทั้งหมดของแม่น้ำโขง

ทั้งนี้ สยามยอมรับเงื่อนไขทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงของการอาจตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ยกเว้นการต้องสละ “การกล่าวอ้าง” ว่าครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายทั้งหมดของแม่น้ำโขง เนื่องจากหากยินยอม เท่ากับเป็นการยอมรับว่า รุกล้ำดินแดน ในเวลาเดียวกัน สยามประเมินท่าทีของบรรดาประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา และฮอลันดา ซึ่งทุกชาติต่างประณามฝรั่งเศส ทว่ากลับไม่มีประเทศใดแสดงท่าทีจริงจังว่าจะช่วยเหลือ อังกฤษที่สยามคาดหวังว่าจะช่วยเหลือบ้าง กลับส่งสัญญาณให้สยามรีบตอบสนองต่อเงื่อนไขทั้งหมดของฝรั่งเศสโดยเร็ว

เรือฝรั่งเศสเทียบท่า ณ สถานเอกอัครราชทุตฝรั่งเศส ในหนังสือพิมพ์ “L’Illustration”

ท้ายที่สุด เหตุการณ์คลี่คลายด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 หรือสนธิสัญญากรุงเทพมหานคร ตามสถานที่ลงนาม เนื้อหาส่วนใหญ่ของข้อตกลงเป็นการที่สยามเสียเปรียบแทบทุกประการ รวมถึงการที่สยามต้องนำเงินในท้องพระคลังหลวงมาจ่ายให้แก่ฝรั่งเศส ทว่ายังไม่เพียงพอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงนำ “เงินถุงแดง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บไว้จากการค้าขายเรือสำเภากับต่างประเทศ รวมด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จากพระบรมวงศานุวงศ์ และทรัพย์สินจำนวนมากจากบรรดาข้าราชการ

ผ่านมาแล้ว 130 ปี วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ยุคอาณานิคม ในการที่บ้านเมืองสามารถผ่านพ้นวิกฤติการณ์ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของสถาบัน และเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาทางการทูตครั้งสำคัญของไทย จวบจนถึงปัจจุบัน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป