ปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งขับเคลื่อน “โครงการแลนด์บริดจ์” (Landbridge) เมกะโปรเจกต์มูลค่าการลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท เป็นการพัฒนาท่าเรือเชื่อมอ่าวไทยที่ จ.ชุมพร และทะเลอันดามันทางด้านจ.ระนอง แบ่งออกเป็นโครงการท่าเรือฝั่งชุมพร 3 แสนล้านบาท โครงการท่าเรือฝั่งระนอง 3.3 แสนล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า รวม 1.4 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง เช่นเดียวกับกรมทางหลวง (ทล.) จะพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร-ระนอง เพื่อย่นเวลา ย่นระยะการเดินทางในการขนสินค้าระหว่าง 2 ฝั่งทะเล

ทีมข่าว Special Report สนทนากับ รศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฎ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/อาจารย์ภาควิชาโลจิสติกส์ในหลายสถาบัน และอนุกรรมาธิการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี วุฒิสภา ในมุมมองเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์

ย่นเวลาเดินทางไม่เกิน3วัน!แต่มี “ค่ายกขน” เพิ่ม!

รศ.ดร.จิตติชัย กล่าวว่าโครงการนี้มี 2 หน่วยงาน ที่ลงมือศึกษาความเป็นไปได้ คือ 1.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ศึกษาทั้งโครงการขุดคลองไทย โครงการแลนด์บริดจ์ และไม่ต้องทำโครงการอะไรเลย 2.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์โดยตรง มาตั้งแต่สมัยรมว.คมนาคม คนที่แล้ว

โดย 2 หน่วยงานนี้ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์บนสมมุติฐานต่างกัน ซึ่งทางสภาพัฒน์มองว่ายังไม่คุ้มกับการลงทุน แต่สนข.มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงมีการศึกษาว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ในด้านอื่นๆ เข้ามาด้วย

“มีหลายโครงการของกระทรวงคมนาคม ทำแล้วไม่คุ้มกับการลงทุน เนื่องจากคนมาใช้บริการน้อย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบางเส้นทาง-ท่าเรือ-สนามบินบางจังหวัด แต่อาจมองกันออกไปในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ดิน การกระจายความเจริญ และการจ้างงาน แต่โดยส่วนตัวมองว่าโครงการแลนด์บริดจ์ถ้าใช้ขนถ่ายสินค้า ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์คงไม่คุ้ม”

เหตุผลที่ว่าไม่คุ้มเพราะถ้าเรือบรรทุกสินค้าจากจีน-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน จะมาใช้บริการโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากเส้นทางหลักผ่านช่องแคบมะละกา-สิงคโปร์ ไม่เกิน 3 วัน แต่ถ้าเป็นเรือขนส่งสินค้าที่จะไปประเทศอินโดนีเซีย-ออสเตรเลีย ก็ไม่ต้องผ่านโครงการแลนด์บริดจ์

ดังนั้นการย่นระยะเวลาการเดินได้ไม่เกิน 3 วัน เพื่อแลกกับการยกสินค้าขึ้น-ลงเรือ ซึ่งต้องจ่าย “ค่ายกขน” จะคุ้มทุนหรือไม่? หรือว่าจะต้องทำเป็น “ฮับ” ที่สมบูรณ์แบบเหมือนท่าเรือของสิงคโปร์ สมมุติว่าคาดการณ์ว่าเมื่อมีแลนด์บริดจ์แล้วจะมีเรือเข้ามา 100 ลำ แต่พอถึงเวลามาแค่ 10 ลำ จะทำอย่างไร?

รอดู “โรดโชว์” บริษัทเดินเรือสนใจแค่ไหน?

รศ.ดร.จิตติชัยกล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างคลองสุเอซในประเทศอียิปต์ที่ขุดเชื่อมระหว่างทะเลแดง-ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งบริษัทเดินเรือขนส่งสินค้า-ขนส่งน้ำมัน จำเป็นต้องผ่านเพราะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางได้เป็น 10 วัน แต่บ้านเราเมื่อก่อนพูดถึงการขุดคอคอดกระ ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นคลองไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่มากมาย ต้องขุดคลองขนาดใหญ่-ยาว เพื่อให้เรือขนาดใหญ่วิ่งผ่าน มีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมตามมามาก การลงทุนก็สูงมาก โครงการดังกล่าวจึงไม่เกิด แต่เปลี่ยนมาเป็นการศึกษาความเป็นไปได้โครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อยกว่า มีผลกระทบทางด้านต่างๆน้อยกว่า

แต่คำถามคือใครจะมาใช้บริการ บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้า-น้ำมัน จากจีน-ไต้หวัน-ญี่ปุ่นจะมาหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังเงียบอยู่ รวมทั้งต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนหรือไม่? เนื่องจากทุนต่างประเทศต้องมองว่าลงทุนไปแล้วได้รับผลประโยชน์คุ้มค่าหรือเปล่า ทั้งปริมาณเรือที่จะเข้ามา และจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่จะผ่านแต่ละวันมีมากพอหรือไม่ เนื่องจากเรากันทราบกันดีว่าสินค้าที่ขนส่งทางเรือนั้นมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำ และส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่รอได้ รอ 2-3 วันก็ยังไม่มีปัญหาอะไร ไม่เหมือนสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ (เครื่องบิน) มีค่าขนส่งที่สูง และรอไม่ได้

“บางคนมองว่าแลนด์บริดจ์ใช้ขนส่งน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อด้วย คือต้องมีโรงกลั่นน้ำมัน-โรงแยกก๊าซในพื้นที่ชุมพร-ระนอง เพื่อให้มีศักยภาพในการพัฒนาที่ดินเพิ่มมากขึ้น ให้เป็นแหล่งสร้างงานขนาดใหญ่ เหมือนการจำลองพื้นที่มาจากชลบุรี-ระยอง ตรงนี้ผมมองว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องมีท่อส่งน้ำมัน มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และโครงข่ายต่างๆมากมายแบบมาบตาพุดและแหลมฉบัง จึงจะเหมือนกับพื้นที่ชลบุรี-ระยอง แต่ชุมพร-ระนองยังไม่ใช่! โดยเฉพาะระนองเป็นจังหวัดที่มีประชากรน้อย ยังไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สภาพพื้นที่เป็นป่าไม้จำนวนมาก จึงอีกไกลที่จะพัฒนาไปถึงจุดนั้น

ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งลูกค้าคือบริษัทเดินเรือขนส่ง จึงต้องมีจำนวนบริษัท และปริมาณเรือที่จะมาใช้บริการก่อน ต้องดูตอนรัฐบาลออกไปโรดโชว์ มีบริษัทเดินเรือให้ความสนใจมากแค่ไหน” รศ.ดร.จิตติชัย กล่าว