นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) สะท้อนมุมมองแก้ไขผ่านช่องทางกฎหมายกับ“ทีมข่าวอาชญากรรม” โดยระบุ ประเทศไทยมีกฎหมายช่วยเหลือหนี้สินครอบครัว ได้แก่ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องสัญญากู้ยืม ดอกเบี้ย และกฎหมายทวงหนี้ที่ให้รายละเอียดว่า เจ้าหนี้ห้ามทำประการใดที่คุกคามลูกหนี้เกินไป

พร้อมมองกฎหมายดังกล่าวครบถ้วนสมบูรณ์ในการใช้คุ้มครองทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เป็นข่าวมักเกิดจากประชาชนบางส่วนไม่อาจเข้าถึงสถาบันการเงินในระบบ ไม่มีทางเลือกจึงต้องไปกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง บางรายสูงกว่ากฎหมายกำหนดไปไกล  ทำให้เมื่อครบกำหนดก็ถูกกดดันจนฆ่าตัวตาย หรือกดดันจนญาติลูกหนี้ไปทำร้ายเจ้าหนี้ถึงแก่ความตาย

ดังนั้น หนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาในทางกฎหมายแพ่งเพียงอย่างเดียวที่มาบังคับให้ชำระหนี้ แต่เกี่ยวพันไปถึงคดีอาญาและกลายเป็นปัญหาสังคม

“หนี้เงินไม่ใช่หนี้ชีวิต เป็นหนี้ไม่ต้องเอาชีวิตไปใช้หนี้ใคร เป็นหนี้ชีวิตไม่มีถึงทางตัน ขอให้ทุกคนคิดถึงอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์ ที่มี 120 สาขาทั่วประเทศ เข้าไปขอคำแนะนำ ไปขอความช่วยเหลือได้”

ทั้งนี้ ย้ำถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้คิดดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 15 ต่อปี หากเรียกเกินกว่ากำหนดโดยไม่ใช่สถาบันการเงิน ให้รู้ไว้ว่า“ไม่มีกฎหมายอื่นรองรับ” หนี้ดังกล่าวจึงผิดกฎหมาย ซึ่งมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/60 กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยนั้นถือเป็น“โมฆะ”

สรุปสาระสำคัญ คำพิพากษาฎีกาที่ 5376/2560

จำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ซึ่งตกเป็นโมฆะ“ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย”ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงิน

นายโกศลวัฒน์  เผยว่า สคช.ใช้มาตรฐานนี้ หากมีลูกหนี้เข้าไปหาก็ขอให้ไกล่เกลี่ยเจรจา โดยดอกเบี้ยที่เกินร้อยละ 15 ถือเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้  ขณะเดียวกันลูกหนี้ต้องคืนเงินต้น อัยการจะใช้กฎหมายให้ยุติธรรมกับทุกฝ่าย คำว่าไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบของอัยการไม่ใช่ว่าไปเข้าข้างลูกหนี้ แต่ทำ“ตาชั่ง”ให้ตั้งตรง ใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เจตนารมณ์กฎหมายทุกฉบับคือเพื่อบ้านเมืองสงบสุข เป็นกติกาแม่บทของสังคมที่ทุกคนต้องทำ

“อัยการไม่ได้จะเข้าข้างลูกหนี้ แต่ถ้าเจ้าหนี้มีเจตนาไม่ดีตั้งแต่แรก คือปล่อยดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมาย พอเราไปทำให้ถูกต้อง บางคนก็เข้าใจว่าเราไปเข้าข้างลูกหนี้ แม้จะบอกลูกหนี้ว่าดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่เงินต้นก็ต้องใช้คืน ส่วนดอกเบี้ยที่จ่ายเกินไป ต้องถามกับเจ้าหนี้ในกระบวนการไกล่เกลี่ย”

สำหรับปัญหาลูกหนี้ หรือญาติลูกหนี้ ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ถึงขั้นฆ่า หรือทำร้ายเจ้าหนี้ ส่วนเจ้าหนี้ก็พบกรณีข่มขู่คุกคามไปทำลายทรัพย์สินลูกหนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมไปดำเนินคดี โดยส่วนตัวมองการที่ผู้เสียหายกลายเป็นผู้ต้องหาเป็นการเพิ่มปัญหาชีวิต พร้อมแนะมาพึ่งพากฎหมาย เพราะหนี้ไม่ใช่ทางตันของชีวิตใคร ต่อให้ประนอมหนี้แล้วไปไม่ไหวต้อง“ล้มละลาย” กฎหมายล้มละลายก็มี“ปลด”ล้มละลาย หรือพ้นระยะเวลาก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

“ถ้าไม่เข้าใจกฎหมายแนะนำให้เข้าไปหาอัยการจะชี้ทางให้เห็นทางสว่างเสมอ เพราะฉะนั้นเป็นหนี้แล้วอย่าคิดสั้น”

นายโกศลวัฒน์ ยังชี้ช่องทางติดต่อสายด่วน สคช.1157 หรือติดต่อโดยตรงที่สำนักงานซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาด้านกฎหมายฟรี พร้อมแนะให้ลองกลับไปอยู่แบบพอเพียง ไม่ก่อหนี้ มีวินัยทางการเงิน อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ใช้  จากคนที่จนและเป็นทุกข์ อาจจะกลับกลายเป็นคนที่ร่ำรวยความสุข“หมดหนี้”  

ขณะที่เหล่าเจ้าหนี้ก็เลือกที่จะไม่ให้กู้ได้เหมือนกัน โดยสามารถนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจค้าขาย หรือทำอะไรก็ตามที่มีผลประโยชน์ตอบแทน ดีกว่า“เสี่ยง”ทำผิดกฎหมาย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]