จึงมาสนทนากับ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ถึงการทำหน้าที่สำคัญในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จะเดินหน้ากันไปอย่างไร

รองนายกฯภูมิธรรม” เปิดประเด็นว่า การเดินหน้าเรื่องดังกล่าวที่รัฐบาลเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการมาทำหน้าที่ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ.2560 ว่า มีส่วนใดที่ต้องได้รับการแก้ไข พร้อมกับพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องดำเนินการทำประชามติ รวมถึงได้มีการหารือกับหลายๆฝ่าย ทั้งตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มคนหลากหลายวิชาชีพ รวมถึงหัวใจสำคัญอย่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อนำมาประมวลกันว่าประชาชนอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาในทิศทางใด และมีอะไรที่ยังขัดข้องใจ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด สำหรับการทำประชามติในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ได้มีข้อสรุปแล้วว่าจะทำ 3 ครั้ง แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่เป็นหนทางที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกตีตกในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

@ แนวทางดำเนินการเรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากอะไร คาดว่าใช้เวลารวมแล้วกี่ปี

รัฐบาลต้องการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สลายความขัดแย้ง และทำให้ทุกคนหลุดพ้นจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่สร้างปัญหาหลายอย่าง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราให้รักษาบทบัญญัติหมวด 1 และหมวด 2 นอกนั้นใครอยากให้รัฐธรรมนูญออกมาแบบใด ก็ให้เสนอมา แต่เรามีเป้าหมายหลักคือต้องการลดความขัดแย้ง และอยากให้การทำรัฐธรรมนูญนี้เสร็จสิ้นให้ได้ภายในอายุรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้อยู่ภายใต้กติกาใหม่และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าฝ่ายต่างๆในสังคมยังมีความขัดแย้งอยู่ แล้วทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งหน้าและบ้านเมืองของเรากลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 และคงต้องกลับไปอยู่ในหลุมดำอีกครั้ง

อยากถามว่าเราพอแล้วหรือยังกับ 10 ปีที่เป็นแบบนี้ ถ้าทุกคนก็บอกว่าพอแล้ว ก็ให้มาร่วมกัน และห้ามไปแตะในเรื่องที่มันชัดเจนอยู่ว่าเป็นอุปสรรคปัญหา และผมอยากให้ทุกคนคิดและอยู่ในระบบ อยู่กับความเป็นจริงให้มาก แล้วคิดถึงเหมือนเวลาเรากินข้าวว่าจะกินข้าวทีละช้อน เข้าปากทีละคำ หรือถ้าจะยกข้าวทั้งถ้วยทั้งจานใส่ปากเลย มันยาก ดังนั้นเรามาช่วยกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกันทานข้าวทีละช้อน

จะดำเนินการอย่างไรกับการที่มีหลายพรรคเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ และจะกลายเป็นสาเหตุให้การแก้รัฐธรรมนูญจะคว่ำกลางทางหรือไม่

เป็นหน้าที่ของรัฐสภาและฝ่ายบริหารที่จะทำให้เกิดกระบวนการแสดงเจตจำนงว่าอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากเริ่มการแก้ไข ก็ให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะนำมาประกบหรือไม่ อย่างไร และเชื่อว่าจะไม่ทำให้เรื่องนี้ถูกคว่ำกลางทางแน่นอน เพราะว่าการนำเข้าสู่สภาฯ ก็เสนอกรรมาธิการตามสัดส่วนอยู่แล้ว และเมื่อเสนอร่างเข้า ก็จะถูกนำมาพิจารณาว่าร่างใดจะเป็นร่างหลัก แล้วนำร่างอื่นๆมาประกบได้ ไม่มีปัญหา หากฝ่ายรัฐบาลยื่นด้วย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกนำมาเป็นร่างหลัก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯอยู่แล้ว แต่ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันในสภา เราไม่ดันทุรัง

@แค่เริ่มจะทำประชามติเพื่อเปิดประตูบานแรก ก็มีเสียงความเห็นต่างมากมาย และมีเกมการเมืองมาเกี่ยว กังวลใจหรือไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

ความขัดแย้งถือว่าเป็นบริบทพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนที่เห็นต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้และมีกระบวนการตามประชาธิปไตยได้กำหนดไว้แล้ว ถ้ายึดมั่นตามกระบวนการประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่างกันที่ให้เอาเสียงส่วนใหญ่ แต่ยังเคารพและคำนึงถึงเสียงส่วนน้อย วันนี้รัฐบาลยืนยันชัดเจนว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังคงติดขัดปัญหาในเรื่องแก้ไขหมวดหนึ่งและสองอยู่ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาและเป็นการบ้านใหญ่ให้พรรคการเมืองทุกพรรคเลยคิดว่าหากความขัดแย้งเดิมยังมีอยู่และทำอะไรจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประชาธิปไตยเป็นวิถีชีวิต มีวิวัฒนาการ เราจะต้องทำให้ 2 สิ่งนี้เกิดขึ้น และบรรยากาศจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถ้าเอาความเห็นของเราเป็นหลัก ไม่ว่าจะอ้างประชาชนหรือจะเอาใครก็ตาม ก็ไม่ต่างจากการปกครองโดยคณะบุคคลที่เอาความเห็นตนเป็นใหญ่ เพราะความเห็นของในระบอบประชาธิปไตย คือความเห็นที่ต้องการรับฟังควบคู่กัน และการที่จะได้ประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยมากกับการที่จะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญเดิม นี่คือหัวใจสำคัญ และเราอยากให้ประชาชนปลดเปลื้องพันธนาการไปทีละส่วน เพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยดีขึ้น

@กังวลหรือไม่ว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ประสบผลสำเร็จ หรือมีเหตุให้ต้องสะดุด จะกลายเป็นชนวนร้อนจนทำให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไปไม่ได้ 

ไม่กังวลว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนร้อนที่ทำให้รัฐบาลจะไปต่อได้หรือไม่ เพราะไม่ได้อยู่ที่คนกลุ่มนี้ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ แต่การเดินหน้าของรัฐบาลอยู่ที่การแก้ปัญหาตามภารกิจที่มีให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งถ้าเรายังทำตรงนี้ได้ดี และเราเข้ามาปลดหลุมดำได้ เพิ่มโอกาสทำมาหากินให้ได้มากขึ้น และข้อสำคัญ ผมไม่คิดที่จะไปโต้แย้งถึงกระแสที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องรัฐธรรมนูญข้อใด แต่เป็นเพียงความคิดที่ไม่ต้องการให้เผด็จการเข้ามาครอบงำประเทศอย่างที่ผ่านมา และเสียงจากโซเชียลมีเดียก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ต้องยอมรับ และไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นเสียงของคนที่อยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ ทุกคนมีข้อจำกัด แต่ยังคงติดขัดในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ได้มั่นคงขึ้น แต่ไม่สามารถถือว่าเสียงจากโซเชียลมีเดียเป็นความเห็นของคนในสังคมทั้งหมด แม้ความเห็นต่างในสังคมมีจริง แต่เราต้องพิสูจน์ด้วยผลงาน และวันนี้ก็มีการดราม่าเร็วเกินไป เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานได้ 3 เดือนแล้วเข้ามา ก็เจอกับปัญหา ซึ่งทุกคนก็รู้อยู่แล้ว ขอให้รอสักหนึ่งปีไม่ต้องรีบร้อนและกาลเวลาจะพิสูจน์เองว่าพรรคการเมืองนั้นจะทำได้หรือไม่ได้ ส่วนเรื่องตระบัดสัตย์หรือไม่ตระบัดสัตย์นั้นเป็นเรื่องที่พูดกันเกินไป

ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ซึ่งถือว่าเราก็ไม่ปฏิเสธความเห็นของฝ่ายใดแต่หากดูจากเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคก้าวไกล ดูจะเป็นพรรคที่มีคะแนนมากที่สุดที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่าลืมว่าหากรวมคะแนนแล้ว คะแนนเสียงของพรรคที่ไม่ต้องการให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีมากกว่า

“การแค่ว่าเอาตัวเองมาเป็นหลักเพียง เพราะพรรคตัวเองได้เป็นที่ 1 ทั้งเรื่องคะแนนเสียงหรือที่นั่งสส.ในสภาแล้วมีความชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ คิดแบบนี้ไม่ได้ และอย่าอ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นเพียงตัวแทนของประชาชนกลุ่มหนึ่ง และหากเล่นการเมืองโดยเอาฐานความเชื่อส่วนตัวเป็นหลัก และใช้วิธีที่ทำให้คนอื่นๆ เชื่อตามจำนวนมาก แล้วถือว่าตัวเองเป็นตัวแทนของคนทั้งหมด อย่างนี้มันทำไม่ได้.