อย่างไรก็ตาม ด้วยคดีที่มี“อายุความ” สิ่งที่หลายคนกังวลตามมาคือ แนวโน้มคดีอาจ“สิ้นสุด”ลงโดยไร้ผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือไม่ หากเด็กยังคงอาการป่วยจนขาดอายุความ…

“ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถามหลายข้อห่วงใยของสังคม ไปจนถึงข้อกฎหมายที่ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิได้กับ นายวีรศักดิ์  โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมองว่าผลทางการแพทย์ หรือการรักษาใช้เวลา 1-2 ปี เด็กก็น่าจะเข้าสู่กระบวนการทางคดีได้แล้ว ที่สำคัญยังเหลือเวลาในคดีความอีกหลายปี

ดังนั้น การมองเป็นปัญหาว่าหากครบ 20 ปีแล้ว เด็กยังต้องรักษาตัวต่อจนหมดอายุความจึงเป็นการตั้งสมมุติฐานไกลเกินกว่าเหตุ พร้อมชี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับเด็ก ในเมื่อมีภาวะอายุ การมองเด็กเป็นอาชญากรแล้วอย่างไรก็ต้องนำตัวมาลงโทษ สังคมจะอยู่ยาก เพราะเท่ากับไม่มีการให้อภัยกับคนที่กระทําผิด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเด็กเลย

สมมุติแพทย์ประเมินว่าเด็กเป็นโรค และป่วยจริงๆ พอครบอายุความก็ถือว่าจบอายุความอาญาไป นายวีรศักดิ์ ยอมรับตรงนี้ก็ใช่ แต่อย่าไปคิดว่าไม่มีใครมาต้องมารับผิดชอบ

“ต้องไม่ลืมว่าตลอดช่วงเวลา 20 ปี ที่เขาอยู่ในการควบคุมหรือกํากับดูแลของแพทย์ ตัวเขาเองก็ต้องทนทุกข์ทรมานกับภาวะการณ์ต่างๆอยู่ แม้ว่าเด็กจะกระทําการซึ่งเกินวัยก็ตาม เป็นเหตุการณ์ที่อุกอาจอุกฉกรรจ์ก็ตาม ก็ต้องให้โอกาส แล้วสิ่งที่เขาได้รับมาจนถึงเวลานี้ ตนคิดว่าเด็กเองก็น่าจะมีความสะเทือนใจอยู่ในตัวพอสมควร”

ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายไม่ได้กำหนดเกณฑ์รักษาผู้ต้องหาที่ป่วยวิกลจริตว่าแบบไหนคือ“หายดี”กฎหมายระบุไว้แล้วว่าให้วินิจฉัยตัดสินของแพทย์“คือที่สุด” เพราะถือว่าแพทย์ก็มีจรรยาบรรณ

โดยกรณีขณะกระทําผิดผู้ต้องหายัง“เด็ก”หมายถึงบุคคลที่มีอายุเกินกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ถ้าเด็กหรือเยาวชนมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นหรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจควบคุมไว้ที่สถานพินิจ หรือสถานที่อื่นตามเห็นสมควร ส่วนกรณี“เยาวชน”มีอายุตั้งแต่ 18ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น หรือมีอายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ ศาลจะให้ควบคุมไว้ในเรือนจำหรือสถานที่อื่น

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าคดีอาญามี“อายุความ”เพียงพอที่จะให้พนักงานสอบสวนทําสํานวนส่งพนักงานอัยการ และมีระยะเวลาเพียงพอจะดําเนินการ ขณะเดียวกันความรับผิดใน“ทางแพ่ง” โดยหลักคดีลักษณะนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา กฎหมายวางหลักไว้ว่าข้อเท็จจริงของความผิดจะ“ละเมิด”หรือ“ไม่ละเมิด”ให้ฟังผลคดีอาญาเป็นหลัก 

แต่แม้ปกติคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาจะนับอายุความเท่ากับคดีอาญา แต่คดีนี้มีเหตุให้“ไม่อาจฟ้องคดีอาญาได้” ตัวผู้เสียหายจึงสามารถฟ้องคดีแพ่งฐานละเมิดได้ มีอายุความหลังเกิดเหตุ 1 ปี คือฟ้องคดีทางแพ่งให้ผู้ปกครองและเด็กเป็นจำเลยร่วม ในปี 2567 นี้ดีที่สุด แน่นอนว่าตัวเด็กต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว พ่อแม่ของเด็กก็ต้องรับผิดชอบในผลของการละเมิดที่เด็กไปก่อด้วย

“เรื่องคดีทางแพ่งข้อเท็จจริงมันพิสูจน์ค่อนข้างง่ายอยู่แล้วว่า เด็ก 14 ปี เป็นผู้ก่อเหตุให้เกิดการละเมิด คงมีความยุ่งยากในเรื่องของค่าเสียหายว่าผู้เสียหายจะได้ค่าเสียหายตามที่ตัวเองต้องการหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์ เพราะฝ่ายจำเลยเองก็จะมานำสืบปฏิเสธสิ่งที่เขาไม่รับผิดทางแพ่ง แล้วศาลก็จะใช้ดุลพินิจตัดสิน”

ถัดจากนั้นเมื่อมีผลคําพิพากษาถึงที่สุด การที่จะบังคับคดีก็ต้องไปดูว่าทรัพย์สิน หรือหลักทรัพย์ต่างๆของพ่อแม่ผู้ก่อเหตุนั้นมีเพียงใด  หากระหว่างการดําเนินคดีพ่อแม่ไปจําหน่าย จ่าย โอน ระหว่างนี้ก็อาจจะถูกฟ้องร้อง ฐาน“โกงเจ้าหนี้”ได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องรับผิดจากการกระทำของเด็กในมูลฐานละเมิด

คดีแพ่งแม้ป่วยวิกลจริตอยู่ในเรื่องแพ่ง“ไม่มีปัญหา” ต่างจากคดีอาญาที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจว่าในขณะเกิดเหตุนั้นผู้ต้องหามีภาวะทางจิตเข้าข้อ“ยกเว้น”ที่ไม่ต้องรับผิดหรือไม่  อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงส่วนตัวเห็นว่าเด็กรับรู้อยู่ว่าเขากำลังรู้สึกนึกคิดการเตรียมแผนอะไรต่างๆไม่น่าถึงขั้นเรียกว่า วิกลจริตได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]