เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางกรมอนามัย ในฐานะหน่วยงานที่ถือกฎหมายพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 กฎหมายที่กำกับดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานร้านสักเหล่านี้อยู่ โดย นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า ร้านสัก เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ และเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้เปิดร้านได้ โดยต้องผ่านมาตรฐานด้านต่าง ๆ ดังนี้

“อาคารสถานที่” จะต้องเป็นพื้นที่ใช้สอยที่มีสภาพดี สะอาด แบ่งเป็นสัดส่วน มีห้องน้ำ มีอ่างล้างมือ มีการระบายอากาศอย่างดี  ดูแลสม่ำเสมอ

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์

“มาตรฐานเครื่องมือ” โต๊ะ เก้าอี้ ต้องมีการทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการให้บริการสัก เพราะเวลาใช้งานจะมีเลือด มีเหงื่อออกมา “เครื่องสัก” ต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “เข็มสัก” ซึ่งก็เหมือนกับเข็มฉีดยา ควรเป็นแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ควรใช้ซ้ำ

“มาตรฐานสี” ต้องเป็นสีที่ได้รับการรับรองมาตรฐานว่าใช้สำหรับการสักเข้าร่างกาย มีวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุที่ชัดเจน  เพราะการใช้สารเคมีเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดปฏิกิริยาได้

“การกำจัดขยะ” ซึ่งจะมี ขยะที่มีคม และไม่มีคม ซึ่งจะมีการปนเปื้อนเลือด น้ำคัดหลั่งต่าง ๆ โดยในส่วนของเข็ม ใบมีด ของมีคม ควรมีการฆ่าเชื้อก่อนทิ้งถังขยะที่เป็นกล่อง หรือภาชนะที่ไม่สามารถแทงทะลุได้ ต้องมีการติดข้อความเตือนให้รู้ว่าเป็น “ขยะติดเชื้อ” ผ้าก๊อซ สำลี ถุงมือก็ต้องฆ่าเชื้อเช่นกัน  ย้ำว่า ต้องใช้มาตรฐานเดียวกับการคัดแยกขยะติดเชื้อในโรงพยาบาล

มาตรฐาน “คนสัก” ต้องมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคทางเดินหายใจ โรควัณโรค โรคไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น ระหว่างทำการสักต้องได้มาตรฐาน มีผ้ากันเปื้อน สวมหมวก มีเสื้อคลุม สวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และเปลี่ยนทุกครั้งหลังให้บริการหนึ่งต่อหนึ่ง

ในส่วนของ ผู้รับบริการสัก ก็เช่นเดียวกัน ต้องไม่มีโรคติดต่อ หรือโรคเลือดบางชนิด เช่น โรคเกล็ดเลือดไม่แข็งตัว หรืออยู่ระหว่างการรับประทานยาห้ามเลือด หรือลดการแข็งตัวของเลือด ในส่วนนี้ต้องมีการซักประวัติก่อนสักด้วย

“ร้านสัก เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข ดังนั้นต้องไปขออนุญาตที่ อปท. ซึ่งปัจจุบันร้านสักมีมากกว่า 1 แสนแห่งทั่วประเทศ แต่มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย”

รองอธิบดีกรมอนามัย ย้ำในตอนท้ายว่า เนื่องจากการสักเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ที่จะมารับบริการต้องเลือกร้านที่จะสักให้รอบคอบ โดยดูจากการมีที่ตั้งร้านชัดเจน สะอาด อุปกรณ์สะอาด หรือสามารถขอดูใบอนุญาตประกอบกิจการได้ แต่ที่ไม่แนะนำเลยคือร้านเล็ก ๆ หรือซุ้มที่เปิดตามตลาดนัด เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์แล้วจะติดตามให้รับผิดชอบได้ยาก หากผู้บริโภคร่วมมือกันไม่ใช้บริการร้านที่ไม่มาตรฐานก็จะทำให้ร้านเหล่านี้ลดลง แต่หากได้รับผลกระทบสามารถร้องเรียนมาได้ที่กรมอนามัย หรือร้องเรียนไปยัง อปท.ในพื้นที่.

อภิวรรณ เสาเวียง