“ระเบียบนิวเคลียร์อาจถูกโจมตี มีความสั่นคลอน หรือเป็นที่โต้แย้ง แต่รากฐานของมันยังมั่นคง และองค์ประกอบสำคัญที่สุดยังคงมีอยู่” นายบรูโน แตร์เตรส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (เอฟอาร์เอส) ซึ่งเป็นคลังสมองของฝรั่งเศส กล่าวในการให้สัมภาษณ์ “เกาหลีเหนือ, จีน, อินเดีย และปากีสถาน ยังคงมุ่งมั่นที่จะสถาปนาตนเองเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ และไม่สนใจคำร้องขอ หรือแม้แต่การปลดอาวุธ”

ขณะเดียวกัน เกาหลีเหนือยกระดับสถานะของตัวเองเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการระบุในรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ และทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) หลายครั้ง ซึ่งเป็นการละเมิดมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

แตร์เตรส์ กล่าวว่า ท่าทีก้าวร้าวของเกาหลีเหนือ เป็นส่วนหนึ่งของ “นโยบายป้องปราม” พร้อมกับชี้ว่า รัฐบาลเปียงยางต้องการย้ำเตือนโลก เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของตนเอง หลังประเทศมหาอำนาจของโลก หันไปให้ความสนใจกับความขัดแย้งในยูเครน และฉนวนกาซา

ทางฝั่งรัสเซีย การปลดสถาปัตยกรรมการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์สมัยสงครามเย็น เริ่มจากการที่รัฐบาลวอชิงตัน ถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ (เอบีเอ็ม) เมื่อปี 2544 อีกทั้งในปีที่แล้ว รัสเซียยังระงับการเข้าร่วม “นิว สตาร์ต” (New START) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ฉบับสุดท้าย ระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลมอสโกด้วย

อนึ่ง แตร์เตรส์ ระบุว่า การควบคุมอาวุธระดับทวิภาคี ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของวงจรแล้ว แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า รัสเซียกับสหรัฐ จะกลับมาแข่งขันทางอาวุธอีกครั้ง แม้มหาอำนาจทั้งสองจะปรับปรุงคลังแสงของตนให้ทันสมัยก็ตาม

นอกจากนี้ แตร์เตรส์ ระบุเสริมว่า สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (เอ็นพีที) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2513 ยังคงมีอยู่ ซึ่งแม้เกาหลีเหนือประกาศถอนตัวฝ่ายเดียวในปี 2546 แต่การแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ยังถูกจำกัดตลอดช่วง 80 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ปูตินข่มขู่จะใช้อาวุธทำลายล้าง หากรัสเซียเผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่ แต่แตร์เตรส์ ยังตั้งข้อสงสัยกับเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า หากรัสเซียต้องการสร้างความหวาดกลัว ด้วยการเพิ่มภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ พวกเขาน่าจะมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย

แม้แตร์เตรส์ ยอมรับว่า ความเป็นระบอบเผด็จการที่เพิ่มขึ้น อาจกลายเป็น “ความหวาดระแวงมากขึ้น” แต่ถ้ามีด้านหนึ่งที่รัสเซียยังคงแสดงตนว่า “มีความสมเหตุสมผล” ด้านนั้นก็คือ “อาวุธนิวเคลียร์” ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ปูตินไม่ได้หยุดรับรู้ ถึงความเป็นจริงเชิงกลยุทธ์โดยสิ้นเชิง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP