นายเชห์บาซ ชารีฟ ได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรปากีสถาน ซึ่งมีมติเมื่อต้นเดือนนี้ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเชห์บาซ วัย 72 ปี ประธานพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน-นาวาซ ( พีเอ็มแอล-เอ็น ) และน้องชายของนายนาวาซ ชารีฟ อดีตนายกรัฐมนตรีสามสมัย ถือเป็นผู้นำรัฐบาลคนแรกในประวัติศาสตร์ปากีสถาน ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลสองสมัยติดต่อกัน ซึ่งเชห์บาซเคยทำหน้าที่มาแล้ว ระหว่างปี 2565-2566 ก่อนมีการยุบสภา

นายเชห์บาซ ชารีฟ ในพิธีสาบานตน ที่กรุงอิสลามาบัด รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปากีสถาน 4 มี.ค. 2567

การลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน เกิดขึ้นราว 1 เดือน หลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างหลายฝ่าย และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริต

แม้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า ผู้สมัครอิสระซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพรรคเตห์รีค-อี-อินซาฟ ( พีทีไอ ) ของนายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในเรือนจำและถูกแบนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด 93 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนเพียงพอตั้งรัฐบาลได้

นายเชห์บาซ ชารีฟ (คนขวา) จับมือกับนายนาวาซ ชารีฟ พี่ชาย หลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติท่วมท้น รับรองเชห์บาซให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 มี.ค. 2567

อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับพรรคพีทีไอ กลายเป็นการมอบโอกาสให้กับพรรคพีเอ็มแอล-เอ็น ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นที่สอง 75 ที่นั่ง และพรรคประชาชนปากีสถาน ( พีพีพี ) ของนายพิลาวัล บุตโต บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโต ผู้ล่วงลับ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามา 54 ที่นั่ง จับมือเป็นพันมิตรจัดตั้งรัฐบาล และดึงพรรคการเมืองขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก และผู้สมัครอิสระคนอื่นเข้าร่วมด้วย โดยไม่มีพรรคพีทีไอและเครือข่ายของข่าน

แม้ตระกูลชารีฟยังคงมี “ความด่างพร้อย” จากประวัติบนเส้นทางการเมืองที่ไม่ค่อยดีนัก ในยุคของนาวาซ อดีตนายกรัฐมนตรีสามสมัย ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งกับหลายฝ่าย และข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริต ตลอดจนคดีความของข่าน ซึ่งพรรคพีทีไอยังคงเดินหน้าแคมเปญประท้วงอย่างหนัก แต่การที่กองทัพปากีสถานซึ่งยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในทางการเมือง สนับสนุนพรรคพีเอ็มแอล-เอ็น “ณ ตอนนี้” น่าจะช่วยรักษาเสถียรภาพให้กับรัฐบาลชุดใหม่

มวลชนฝ่ายสนับสนุนนายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรี ชุมนุมที่เมืองลาฮอร์ เพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลเชห์บาซจะยังคงเผชิญกับความท้าทายแบบเดิมแทบทุกด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ จากการที่ปากีสถานเกือบผิดนัดชำระหนี้ ในสมัยที่เชห์บาซดำรงตำแหน่ง ก่อนสามารถบรรลุข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) “ในนาทีสุดท้าย”

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของความมั่นคง โดยรัฐบาลอิสลามาบัดกล่าวว่า การที่กลุ่มตาลีบันกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งในรอบสองทศวรรษ เมื่อปี 2564 คือปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ปากีสถานเผชิญกับเหตุรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งมีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน

การเมืองของปากีสถานไม่ต่างจากอีกหลายประเทศในเอเชีย กล่าวคือ “เป็นธุรกิจครอบครัว” และ “การส่งต่ออำนาจจากรุ่นสู่รุ่น” บุตรชาย บุตรสาว พี่น้อง ลุง อา และสมาชิกซึ่งเป็นวงศาคณาญาติ แยกกันลงสมัครรับเลือกตั้งคนละเขต แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อการกระชับอำนาจทางการเมือง ให้กับวงศ์ตระกูลของตัวเอง

นางมาร์ยัม นาวาซ ชารีฟ

นอกจากการหวนคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเชห์บาซ ในเวลาเดียวกัน ตระกูลชารีฟกระชับอำนาจขึ้นอีกขั้น ด้วยการที่นางมาร์ยัม นาวาซ ชารีฟ บุตรสาวของนาวาซ ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง มุขมนตรีแห่งแคว้นปัญจาบ ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่อันดับสองของปากีสถานในแง่อาณาเขต แต่หากวัดในเรื่องประชากรถือว่า แคว้นปัญจาบมีประชากรมากที่สุดในปากีสถาน ยิ่งไปกว่านั้น มาร์ยัมยังสร้างประวัติศาสตร์ เป็นสตรีคนแรก ที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำระดับแคว้น

อย่างไรก็ตาม ในสังคมการเมืองของปากีสถาน ไม่ว่าตระกูลของคุณจะยิ่งใหญ่เพียงไหน หรือมีสมัครพรรคพวก และเครือข่ายทางการเมืองโยงใยมากมายมหาศาลเพียงใด แต่บรรดานักการเมืองยังคงต้องตระหนักเสมอว่า กองทัพปากีสถานถือเป็น “ผู้ทรงอิทธิพลตัวจริง” ต่อภูมิทัศน์การเมืองของประเทศ

ปากีสถานเคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารหลายชุด เป็นระยะเวลานานรวมเกือบครึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอินเดีย เมื่อปี 2490 ล.อ.ไซเอ็ด อาซิม มูเนียร์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมปากีสถาน เคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับบรรยากาศการเมืองภายในประเทศ ว่าปากีสถานต้องการ “ความมั่นคง” ซึ่งจะสามารถนำพาบ้านเมืองให้หลุดพ้นจาก “อนาธิปไตยและการแบ่งแยก”

พล.อ.ไซเอ็ด อาซิม มูเนียร์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมปากีสถาน

การเลือกตั้ง “ไม่ใช่การแข่งขันแบบชี้ขาดมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ” แต่เป็นการใช้สิทธิตามอำนาจของประชาชน ดังนั้น บรรดานักการเมืองควรพยายามบริหารประเทศ เพื่อรักษาประโยชน์ให้กับประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่น่าจะทำให้กลไกประชาธิปไตย สามารถขับเคลื่อนและบรรลุตามเป้าหมาย

อนึ่ง สถานการณ์การเมืองของปากีสถานในเวลานี้ เหมือนเป็น “ภาพซ้ำรอย” กับบรรยากาศเมื่อปี 2561 ซึ่งครั้งนั้นศาลตัดสิทธิทางการเมืองของนาวา เนื่องจากเป็นบุคคลต้องคดีอาญา ด้านข่านนำพรรคพีทีไอชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ในที่สุด แม้อยู่ไม่ครบวาระก็ตาม

จริงอยู่ที่เชห์บาซถือเป็นผู้นำรัฐบาลสองสมัยติดต่อกัน คนแรกในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน แต่การที่ประเทศแห่งนี้ยังไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดสามารถดำรงตำแหน่งได้ครบวาระ สะท้อนว่า กลเกมการเมืองของหนึ่งในมหาอำนาจแห่งเอเชียใต้ “ซับซ้อนซ่อนเงื่อนและเยือกเย็นยิ่งนัก” โดยมีกองทัพเป็นตัวแปรสำคัญ.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP