“การเป็นมนุษย์ที่ดี คือความรับผิดชอบของทุกคน” ดาไล ลามะ กล่าวไม่กี่สัปดาห์ ก่อนการรำลึกถึง การลุกฮือในทิเบต หรือการก่อกบฏในทิเบต เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2502 ซึ่งการลุกฮือต่อต้านจีนในวันนั้น ประสบความล้มเหลว ทำให้ดาไล ลามะ ต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย

ดาไล ลามะ อายุ 88 ปี กล่าวว่า แม้ตัวท่านจะยังมีชีวิตอีกหลายสิบปี แต่ชาวทิเบตกำลังเตรียมพร้อมเผชิญกับอนาคตที่ไม่มีดาไล ลามะ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ขแสดงธรรมเทศนาจากบนธรรมาสน์ ที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย 24 ก.พ. 2567

จีนกล่าวว่า เขตปกครองตนเองทิเบต เป็นส่วนสำคัญของประเทศ ซึ่งตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทิเบตสลับสับเปลี่ยนระหว่างการเป็นเอกราช และการถูกควบคุมโดยจีน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งเรียกว่าเป็น “การปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติ” นำมาซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการศึกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม ชุลทริม วัย 95 ปี อดีตสมาชิกกองโจร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ (ซีไอเอ) หยิบยกคำเตือนจากในอดีต เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในชาวทิเบตที่ลุกขึ้นต่อสู้กับจีน เมื่อ 65 ปีที่แล้ว ในการก่อจลาจล ซึ่งบีบบังคับให้ดาไล ลามะ ต้องข้ามเทือกเขาหิมาลัย เข้าสู่อินเดีย จากนั้นผู้คนอีกหลายหมื่นคน ก็ติดตามท่านไป

หลังจากนั้น ชุลทริม และกลุ่มติดอาวุธ แอบเข้าไปในทิเบตเป็นเวลานานกว่า 10 ปี เพื่อซุ่มโจมตี รวมถึงระเบิดรถบรรทุกของกองทัพจีน แต่หลังจากซีไอเอ ตัดเงินทุน และดาไล ลามะ เรียกร้องเมื่อปี 2517 ให้กลุ่มนักรบวางอาวุธ และปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง ในการแก้ปัญหาอย่างสันติ ชุลทริม จึงเดินทางไปยังอินเดีย ปัจจุบัน เขาเป็นหนึ่งกลุ่มคนรุ่นสุดท้าย ซึ่งจดจำสิ่งที่เขาเรียกว่า “ทิเบตเสรี” และบอกกับชาวทิเบตรุ่นใหม่ว่า “อย่าไว้ใจรัฐบาลปักกิ่ง”

ด้านรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต กล่าวว่า แม้ชาวทิเบตหลบหนีไปอินเดีย หลายพันคนต่อปี แต่เมื่อปีที่แล้วกลับมีผู้ลี้ภัยไม่ถึง 12 คน ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของชาวทิเบตถูกจับตามอง และหลายคนกลัวว่า ญาติจะถูกจับกุมหรือถูกตอบโต้ หากพวกเขาหลบหนีออกไปได้สำเร็จ

นอกจากนี้ บรรดาผู้สันทัดกรณีของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยังกล่าวว่า “ศูนย์ฝึกอาชีพ” หลายแห่งของจีน ในเขตปกครองตนเองทิเบต ถูกใช้เพื่อบ่อนทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาของชาวทิเบต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธมาตลอด

อนึ่ง ชาวทิเบตรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตในอินเดีย ต่างหวาดกลัวภัยคุกคามที่รออยู่ข้างหน้า เช่นเดียวกับน.ส.เทนซิน ดาวา นักเคลื่อนไหว และหัวหน้าศูนย์ทิเบตเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่กังวลว่า ชาวทิเบตรุ่นใหม่จะสูญเสียความหวัง ที่จะได้เห็นบ้านบรรพบุรุษของพวกเขา

“พวกเราเติบโตมาอย่างไร้สัญชาติในอินเดีย และเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อดาไล ลามะ มรณภาพ อีกทั้งจีนยังมีความตั้งใจที่จะแต่งตั้งดาไล ลามะ ของตนเอง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ชาวทิเบตจำนวนมาก อพยพไปยังยุโรป และอเมริกาเหนือ” ดาวา กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP