ผลการเลือกตั้งดังกล่าว นับเป็นการพลิกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับเออร์โดกัน ซึ่งครองตำแหน่งผู้นำตุรกีมานาน 21 ปี และชนะการเลือกตั้งสมัยที่สาม เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่า 52%

แม้เออร์โดกัน ทุ่มเทแรงกายแรงใจเป็นการส่วนตัว ในการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งท้องถิ่น ด้วยความหวังที่จะยึดฐานเสียงเมืองอิสตันบูลกลับคืน ทว่ามันกลับลงเอยด้วยการปล่อยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรครัฐบาล กับเออร์โดกันเอง

พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) ของเออร์โดกัน ไม่สามารถควบคุมเมืองใหญ่ของตุรกีได้ แถมยังสูญเสียจังหวัดและเทศบาลหลายแห่ง ให้กับพรรคสาธารณรัฐประชาชน (ซีเอชพี) ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม นายดิมิทาร์ เบเชฟ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวว่า ในฐานะที่เออร์โดกัน เป็นนักการเมืองผู้มากประสบการณ์ เขาจะปรับตัว พร้อมกับชี้ว่า การทำงานร่วมกับบรรดานายกเทศมนตรีของตุรกี ได้รับการทดลองและทดสอบแล้ว ซึ่งเออร์โดกัน กล่าวว่า รัฐบาลจะทำงานร่วมกับนายกเทศมนตรีที่ได้รัยชัยชนะในการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้สมาชิกพรรคของเขา มีส่วนร่วมใน “การวิจารณ์ตนเอง”

สุนทรพจน์อันสงบนิ่งที่เออร์โดกัน กล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนของเขา ทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายคนรู้สึกประหลาดใจ เนื่องจากเขายอมรับกระแสต่อต้านที่เพิ่มสูงขึ้น “อย่างตรงไปตรงมา” และเรียกผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ของพรรคเอเคพี และการเมืองภายในประเทศ

แม้พรรคเอเคพี ยังคงเป็นพรรคการเมืองแข็งแกร่งที่สุดในรัฐสภาตุรกี แต่อำนาจของเสียข้างมากก็มีข้อจำกัด เนื่องจากพรรคไม่มีคะแนนเสียงเพียงพอที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้เออร์โดกันลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย ในปี 2571

นอกจากนี้ นายอาเมต อินเซล นักรัฐศาสตร์ชาวตุรกีที่ลี้ภัย กล่าวเสริมว่า พันธมิตรของเออร์โดกัน ในรัฐสภาตุรกี ไม่มีความสนใจมากนักในการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะเออร์โดกัน สูญเสียความสามารถในการดึงดูดผู้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ใช้ตำแหน่งของเขา

อนึ่ง อินเซล คาดการณ์ว่า เออร์โดกันในตอนนี้ มีแนวโน้มที่จะรับบทเป็น “รัฐบุรุษระหว่างประเทศ” ด้วยการเดินทางเยือนทำเนียบขาว เพื่อพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ในวันที่ 9 พ.ค. นี้

“เออร์โดกัน จะสามารถรักษาสิ่งต่าง ๆ ไว้ได้จนถึงปี 2571 แต่หลังจากนั้นมันคือ “ความเสี่ยง” และอาจเกิดการถ่ายโอนอำนาจให้กับฝ่ายค้าน” นายเบย์รัม บัลชี จากมหาวิทยาลัยไซเอนเซส โป ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวเพิ่มเติมว่า หากไม่มีเออร์โดกัน พรรคเอเคพีก็ไม่มีอะไรมากนัก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP