ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ผู้นำเม็กซิโก ประณามการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเอกวาดอร์ เป็นการละเมิดอธิปไตยของเม็กซิโกอย่างร้ายแรง และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง

ขณะเดียวกัน โลเปซ โอบราดอร์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเอกวาดอร์ปฏิบัติตามคำสั่ง ที่มาจาก “การใช้อำนาจเผด็จการอย่างแท้จริง” ของประธานาธิบดีดาเนียล โนโบอา ผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ผู้นำเม็กซิโก

ผู้นำเม็กซิโกกล่าวด้วยว่า “การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพในระดับสูง” หากผู้นำยังไม่มีประสบการณ์มากพอ หรือขาดความสนับสนุนจากประชาชน การใช้อำนาจของผู้นำ “ยิ่งต้องมีความรอบคอบ การรักษาสมดุล และความมีเหตุผล” และทิ้งท้ายว่า หากบ้านเมืองอ่อนแอ ผู้ที่ไร้ประสบการณ์ มักก้าวมามีอำนาจบริหารประเทศนั้น

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่การทูตของเม็กซิโกได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินของสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโกได้รับความเสียหาย การดำเนินการของเอกวาดอร์ละเมิดอนุสัญญาเวียนนาอย่างร้ายแรง เม็กซิโกจึงต้องยุติความสัมพันธ์กับเอกวาดอร์ทันที

ภาพจากกล้องวีดีโอวงจรปิดของสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ในกรุงกีโต เผยให้เห็นช่วงเวลาซึ่งตำรวจเอกวาดอร์ปะทะกับนายโรแบร์โต คันเซโก ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง

นอกจากนั้น เม็กซิโกร้องเรียนเรื่องนี้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ไอซีเจ ) หรือศาลโลก ว่าเอกวาดอร์ละเมิดอนุสัญญาเวียนนา ซึ่งระบุชัดเจน ว่าประเทศผู้ให้พื้นที่ตั้งสำนักงานการทูต จะไม่สามารถเข้าสู่พื้นที่แห่งนั้นได้ หากประเทศผู้เข้ามาตั้งสำนักงานไม่อนุญาต

อนึ่ง กลาสเข้าไปลี้ภัยอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำกรุงกีโต ตั้งแต่เดือนธ.ค. ที่ผ่านมา หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เมื่อรับโทษจำคุกครบกำหนดตามข้อหาคอร์รัปชันในคดีหนึ่ง แต่เจ้าตัวยังคงเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในอีกคดีด้วย ซึ่งรัฐบาลเอกวาดอร์ใช้เป็นเหตุผลว่า เม็กซิโกไม่ควรใช้สถานเอกอัครราชทูต เป็นที่หลบภัยให้กับบุคคลที่หลบหนีคดีอาญา

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาน่าสนใจ จากการที่ทั้งสองประเทศคู่รณีอ้างความชอบธรรม ตามเนื้อหาที่ระบุอยู่ในอนุสัญญาเวียนนา

อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีการลงนามที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปี 2504 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2507 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับ การกำหนดกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในระดับรัฐต่อรัฐ เพื่อการรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศ ให้เป็นไปตามพื้นฐานและหลักการเดียวกัน

สำหรับกฎเกณฑ์และธรรมเนียมโดยพื้นฐาน ตามข้อกำหนดของอนุสัญญาเวียนนา มุ่งเน้นไปที่สิทธิคุ้มกันทางการทูต รวมถึงการที่ สถานที่มีรั้วรอบขอบชิดซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของบุคลากรทางการทูต ต้องเป็นบรรยากาศที่ไม่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ต่อการถูกกดขี่ การข่มขู่ และการล่วงละเมิดจากประเทศซึ่งเป็น “เจ้าภาพ” หรือรัฐผู้รับให้ประเทศนั้นเข้ามาตั้งสำนักงานทางการทูต

ปัจจุบัน สมาชิกสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) 191 จาก 193 ประเทศ ยกเว้นปาเลาและซูดานใต้ เป็นภาคีของอนุสัญญาเวียนนา จึงถือได้ว่า สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับดังกล่าว คือหนึ่งในความสำเร็จทางการทูตครั้งสำคัญที่สุดของสหประชาชาติ ในแง่ของจำนวนภาคีที่ร่วมลงนาม

เจ้าหน้าที่หน่วยคอมมานโดของเอกวาดอร์ นำตัวนายฮอร์เก กลาส อดีตรองประธานาธิบดี เดินทางไปยังเรือนจำ

อนุสัญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต แบ่งออกเป็น 53 มาตรา โดยมาตราซึ่งเป็นที่กล่าวถึงและ “นิยมใช้” รวมถึง มาตรา 9 ว่าด้วยการที่รัฐผู้รับมีอำนาจชอบธรรม ในการประกาศให้บุคลากรการทูตระดับใดก็ตามของประเทศหนึ่งประเทศใด ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศ มีสถานะเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” ( persona non grata )

ขณะที่รัฐผู้ส่งต้องเรียกตัวเจ้าหน้าที่การทูตคนนั้นกลับ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือตามที่ประเทศเจ้าภาพกำหนด มิเช่นนั้น เจ้าหน้าที่การทูตคนดังกล่าวจะสูญเสียสิทธิคุ้มกันทางการทูต

นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 22 ซึ่งระบุว่า สถานที่ซึ่งเป็นสำนักงานหรือสถานที่ปฏิบัติภารกิจการทูต ถือเป็นพื้นที่ “ซึ่งล่วงละเมิดมิได้” แม้รัฐเจ้าภาพไม่สามารถเข้าสู่พื้นที่แห่งนั้นได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเอกอัครราชทูต หรือหัวหน้าของสำนักงานการทูตแห่งนั้น และประเทศผู้รับต้องไม่ตรวจค้นและยึดทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ภายในสถานที่แห่งนั้น

อีกทั้งประเทศเจ้าภาพต้องปกป้องและคุ้มครอง ไม่ให้เกิดความเสียหายกับสำนักงานการทูต และที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่การทูต ซึ่งเรื่องนี้ระบุอยู่ในมาตรา 30 ของอนุสัญญาเวียนนาด้วย

ประธานาธิบดีดาเนียล โนโบอา ผู้นำเอกวาดอร์

แม้เม็กซิโกถอนเจ้าหน้าที่การทูตทั้งหมดออกจากเอกวาดอร์แล้ว แต่ยืนยันว่า ยังไม่มีคำสั่งเนรเทศเอกอัครราชทูตของเอกวาดอร์ ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีเอกวาดอร์เผยแพร่แถลงการณ์ของโนโบอา ยืนยันความจำเป็นต้องจับกุมกลาส “ซึ่งมีความเสี่ยงหลบหนีออกนอกประเทศ”

อย่างไรก็ตาม เอกวาดอร์ส่งสัญญาณประนีประนอมกับเม็กซิโก ว่าพร้อมฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ว่าจะกลับมาแสวงหาจุดยืนร่วมกันอีกครั้งได้อย่างไร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ถือเป็นบทเรียนสำคัญทางการทูตให้กับทุกประเทศ ไม่เพียงเฉพาะเม็กซิโกกับเอกวาดอร์.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP