ท่าเรือกลัง เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าของเอเชีย และเป็นช่องทางยอดนิยมในการเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ตามแนวช่องแคบมะละกา ทำให้ท่าเรือแห่งนี้มีความได้เปรียบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความใกล้เคียงกับเส้นทางเดินเรือหลักของภูมิภาค และความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่ในท่าเทียบเรือน้ำลึกตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การขยายท่าเรือกลับสร้างแรงกดดันต่อหลายหน่วยงานราชการของมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ และกระทรวงทรัพยากร ให้ยกระดับการเฝ้าระวังการนำเข้าท่อนไม้ที่ผิดกฎหมาย และ “การเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์”

ทั้งนี้ โครงการขยายท่าเรือกลัง เกิดขึ้นเมื่อบริษัทต่าง ๆ สร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาใหม่ และกระจายการลงทุนออกจากจีน เพื่อลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นการทำให้แน่ใจว่า ท่าเรือที่ได้รับการปรับปรุง จะมีขีดความสามารถสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ยิ่งไปกว่านั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของมาเลเซีย สำหรับนโยบายการค้า “จีน + 1” ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลีกเลี่ยงการลงทุนในจีนเพียงแห่งเดียว และกระจายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ หรือสร้างช่องทางการลงทุนสู่การผลิตในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มดี เช่น อินเดีย ไทย หรือเวียดนาม

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทตะวันตกหลายแห่งลงทุนในจีนเป็นหลัก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งนโยบายการค้า “จีน + 1” ได้รับการพัฒนาในด้านต้นทุน ความมปลอดภัย และความมั่นคงในระยะยาว จากการที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจในจีน มีการกระจุกตัวมากเกินไป อีกทั้งมันยังได้รับการอธิบายว่าเป็น “ปรากฏการณ์ระดับมหภาค” ด้วย

ด้านนายรูเบน เอมีร์ กนานาลินกัม กรรมการผู้จัดการกลุ่มของเวสต์พอร์ตส์ โฮลดิงส์ กล่าวว่า การขยายท่าเรือกลัง จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ และคาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 40 ปี จึงจะแล้วเสร็จ

อนึ่ง โครงการขยายท่าเรือกลัง จะรวมขั้นตอนการถมพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง เพื่อเพิ่มจำนวนสถานที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์ จากเดิม 9 แห่ง เป็น 17 แห่ง

แม้มาเลเซียต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ และไทย ซึ่งดำเนินมานานกว่า 30 ปี แต่ มาเลเซีย ยังคงมีความได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากท่าเรือหลายแห่งในประเทศ มีราคาถูก ในแง่ของค่าใช้จ่ายต่อตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างทางรถไฟชายฝั่งตะวันออก (อีซีอาร์แอล) ระยะทาง 665 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 และเชื่อมต่อท่าเรือกับชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู จะทำให้ท่าเรือกลัง กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดในมาเลเซีย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP