ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงครองสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยช่วยเหลือพสกนิกรให้สามารถประกอบอาชีพมีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวไทยทั้งประเทศ ทั้งพระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกรตลอดมา จึงเป็นที่มาของการเกิด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระจายไปทั่วประเทศ อย่างครอบคลุมทุก ๆ ด้าน 4,877 โครงการ ทำให้พสกนิกรทั่วประเทศต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ผลสำเร็จโครงการฯ พระราชดำริ

ก่อนหน้านี้ทีมข่าว 1/4 Special Report ติดตามนำเสนอข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การยึดแนวทางทฤษฎีใหม่ดำรงชีพในภาวะวิกฤติถือเป็นอีกทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชนที่สนใจ หรือแม้กระทั่งมีโอกาสติดตามกับคณะทำงานของ กปร. ลงไปดู ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ในการทดลองพัฒนา ต่อยอดให้ชาวบ้านในท้องที่ ได้มีอาชีพมานานกว่า 38 ปีและได้สืบสานต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากภาคอีสานแล้วยังมีทางภาคใต้ทีมข่าว 1/4 Special Report ขอนำเสนอข้อมูล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านพิกุลทอง หมู่ 6 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ถือเป็นความโชคดีของเหล่าพสกนิกรชาว จ.นราธิวาส ที่มีพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ หนึ่งเดียวในภาคใต้  จึงทำให้พสกนิกรได้มีโอกาสรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรม    ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างใกล้ชิดเมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนประชาชนตามท้องถิ่นทุรกันดาร

สำหรับการจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงพิจารณาหาทางช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2517 ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 954 โครงการ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส มี 389 โครงการ สำหรับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงมุ่งมั่นศึกษา ทดลอง วิจัย ตามพระราชดำริที่ให้ไว้จนประสบผลสำเร็จขยายผลไปสู่พื้นที่ประสบปัญหาของพี่น้องเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพมีรายได้และพึ่งตนเองได้ และมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ ในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยตรง เพราะความเดือดร้อนของประชาชนมิอาจรอได้ยาวนานต้องมีการส่งเสริมให้มีความอยู่ดีกินดี

พระองค์ทรงพบว่า การช่วยเหลือประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดีนั้นต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้พบเห็นและสัมผัสด้วยตนเอง จึงได้พระราชทานพระดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นใน 6 จังหวัด (จ.นราธิวาส, สกลนคร, เชียงใหม่, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา และเพชรบุรี)     พร้อมทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการดำเนินงานและทรงติดตามผลการดำเนินงานด้วยพระองค์เองตลอดมา จนประสบผลสำเร็จแล้วไปขยายผลในพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ในรูปแบบการสาธิตในพื้นที่ให้เห็นจริง ส่งเสริมให้ประชาชนลงมือทำจึงทำให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนประสบผลสำเร็จตามที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการดำเนินงาน

ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสนองพระราชดำริ และมีพระราชดำริด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนไม่   มีรายได้ ให้สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ด้วยการปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน พระองค์ทรงมองการณ์ไกลในการพัฒนาประเทศอย่างทะลุปรุโปร่งที่ทุกคนไม่อาจตามทัน อย่างเรื่องของ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้พระราชทานให้คนไทยมาเนิ่นนาน จะว่าไปแล้วเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาการวางรากฐานในการดำเนินชีวิตให้มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงสามารถพึ่งตนเองได้ มีเกษตรกรได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

แนวทางต้นแบบต่อยอดการพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสร้างมรดกอันล้ำค่ายิ่งไว้มากมาย ให้กับพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ทั้ง 6 แห่ง ซึ่งเปรียบเสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่พระองค์ได้มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ความว่า

“…เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับสามารถที่จะมาดู จะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้ คือเป็นทัศนศึกษา พานักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยก็ตาม หรือไม่ใช่โรงเรียน เป็นข้าราชการทุกชั้นตั้งแต่ชั้นผู้น้อยมาจนถึงชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับ ทุกอย่าง คือ หมายความว่า ทุกหน้าที่สามารถมาดูในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ของวิชาการ อันนี้เท่ากับเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไร มีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา…” 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นสถานที่รวบรวมศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา พร้อมกับพระราชทานพระราชดำริให้ปวงชนชาวไทยทุกพื้นที่ได้รับประโยชน์จากมรดกนี้อย่างมหาศาลจากพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้เลย สามารถพลิกฟื้นผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งและทำการเกษตรได้หลากหลายรูปแบบ ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ประโยชน์พื้นที่ทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักเกษตรอย่างแท้จริงยิ่งใหญ่อันหาที่สุดมิได้ แม้เมื่อยามเกิดความคับขันภายในประเทศทรงหาทางออกที่ดีให้กับประชาชนในประเทศ หรือเมื่อคราวประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปภาคการเกษตรครั้งใหญ่ โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนแรงงานคนที่กำลังขาด แคลน เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ด้วยวิสัยทัศน์ยาวไกลของพระองค์เกี่ยวกับเทคโนโลยีได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการทำเกษตรจะต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี และวิทยาการสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรตามที่รัฐบาลกำหนดกรอบการขับเคลื่อนภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”  

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังปรากฏผล สำเร็จเป็นที่ประจักษ์แก่ทั่วโลกจนเป็นที่กล่าวขาน และได้รับรางวัลมากมายหลายสาขา โดยเฉพาะด้านทรัพยากรดิน  มีการอนุรักษ์ แก้ไข และฟื้นฟู ทั้งดินเปรี้ยวจัด ดินพรุ ดินเค็ม ดินเสื่อมโทรม ทรงศึกษา    หาวิธีการจนเอาชนะธรรมชาติได้ และแปรเปลี่ยนพื้นที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ อันนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ

ได้นำเอาผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่ได้จากการบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งด้านดิน น้ำ ป่าไม้ การพัฒนาอาชีพ และสาธารณสุข มาจัดทำเป็นแปลงสาธิตและจัดแสดงไว้ในรูปแบบของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” และได้รักษาพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตนี้ไว้ เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภูมิสังคมของตนเองต่อไปแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ หน่วยงาน, แปลงสาธิต, สวนต่าง ๆ และอื่น ๆ อาทิ

1.งานวิชาการเกษตร 2.งานปศุสัตว์ 3.งานประมง 4.งานส่งเสริมเกษตร 5.งานส่งเสริมอุตสาหกรรม 6.งานป่าไม้ 7.งานควบคุมโรคติดต่อฯ 8.งานหม่อนไหม 9.โครงการแก้มลิง 10.สาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด 11.แปลงสาธิตเพื่อปลูกที่ดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกมะพร้าวน้ำหอม 12.แปลงสาธิตเพื่อปลูกที่ดินเปรี้ยวจัด เพื่อปลูกฝรั่ง-ส้มโอ 13.แปลงสาธิตเพื่อปลูกที่ดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชผัก 14.พืชสวนครัวประดับ 15.แปลงผลิตข้าวพันธุ์พื้นเมือง 16.สวน 50 ปีครองราชย์ 17.สวน 72 พรรษา 18.สวนมงคลเฉลิมพระชนม์ 76 พรรษา 19.สวนสาธิตเกษตร เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 20.สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา 21.สวนพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้ม่วงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา และ 22.โรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก.