โควิด-19 ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 64  ถือว่าเป็นอีกห้วงวิกฤติสุด ๆ ของประเทศไทย แม้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศ ยกระดับมาตรการคุมเข้มสถานการณ์ในพื้นที่ทั่วราชอาณา จักร เริ่มใช้ 12 ก.ค. 64 พร้อมมี มาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เกาะติดหลักหมื่นมาหลายวัน โดยวันที่ 13 ก.ค. ผู้ติดเชื้อรายใหม่  8,685 ราย เสียชีวิต 56 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 353,712 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 2,847 ราย)

แต่ที่ทำเอาบรรดาผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มไปแล้ว เริ่มตั้งคำถามไปต่าง ๆ นานา ? เมื่อทางกระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงผลการประชุม คณะกรรมการโรคติดต่อฯ เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด โดยเข็มแรกเป็น ซิโนแวค เข็มสองเป็น แอสตราเซเนกา ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน เชื้อกลายพันธุ์เดลตา โดยโรงพยาบาลต่าง ๆ ดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ยังให้ ฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โด๊ส (Booster dose) “วัคซีนเข็มที่ 3” กับกลุ่ม บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว (ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป) ดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์ โด๊สได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุด

จะว่าไปก็เหมือนยกเลิกฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ทั้งที่ ครม.เพิ่งจะมีมติ เห็นชอบการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มเติม โดยให้เป็น “วัคซีนหลัก” 2 ยี่ห้อ มาฉีดฟรีให้กับประชาชน คือ วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโด๊ส และ ซิโนแวค 10.9 ล้านโด๊ส (วงเงิน 6,100 ล้านบาท) ส่วน โมเดอร์นา อนุมัติเป็น “วัคซีนทางเลือก” ประชาชนจะต้องชำระเงินเองกับภาคเอกชน

จี้รัฐบาลเร่งทบทวนการจัดซื้อ

ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสติดต่อสัมภาษณ์พิเศษ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย หลังได้ออกแถลงการณ์ จี้รัฐทบทวนการสั่งซื้อวัคซีน พร้อมยังจะยินดีเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องอันเป็นการปกป้องผลประโยชน์และชีวิตของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย จากการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว นายนรินท์พงศ์ กล่าวกับทีมข่าวเดลินิวส์ ว่า ตอนนี้การบริหารเกี่ยวกับโควิด–19 ทำให้เห็นถึงการทำงานของรัฐบาลเป็นเช่นไร ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาการออกคำสั่งและกฎหมายพิเศษต่าง ๆ เช่น การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำให้ประชาชนหลากหลายกลุ่มได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สุดท้ายจะกลายเป็นความชอบธรรมที่ประชาชนยอมรัฐต่อการถูกละเมิดเหล่านี้

นายกสมาคมทนายความฯ กล่าวต่อว่า ยิ่งในช่วงนี้ เห็นถึงปัญหาการจัดการวัคซีนที่ไม่ทั่วถึง และไม่มีประสิทธิภาพชัดเจน จากปริมาณประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ต้องมานั่งหวาดกลัวโรคที่กำลังระบาด จนตอนนี้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าจับตามากที่สุดคือ การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ซึ่งในการระบาดรอบแรกของไทย เชื้อจะเป็นสายพันธุ์ที่มาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชน​จีน ช่วงนั้นวัคซีนซิโนแวค มีผลวิจัยว่าช่วยป้องกันได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเชื้อโควิดกลายพันธุ์ มีทั้ง อัลฟา (อังกฤษ), เดลตา (อินเดีย) และ เบตา (แอฟริกาใต้) โดยผลการศึกษาของแพทย์หลายท่านก็พบว่า ผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ก็ยังมีติดโควิดสายพันธุ์เดลตา แต่ทำไมรัฐบาลก็ใช้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ยังสั่งซื้อซิโนแวค เพิ่มอีก 10.9 ล้านโด๊ส

สิ่งนี้จึงเกิดคำถามมากมายจากประชาชนในสังคมว่า เมื่อรู้อยู่แล้วว่า ตอนนี้ เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา กำลังระบาดไปทั่วประเทศ จนทำให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องรีบสั่งปรับรูปแบบการฉีดวัคซีน โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว ต้องมาฉีด วัคซีนเข็มที่ 3 ส่วนใครฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้ว เข็มสองต้องให้เป็นแอสตราเซเนกา สมาคมทนายความจึงเล็งเห็นว่า ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ สถานการณ์ประเทศจะยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง

ส่อขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 55-มาตรา 47

นายนรินท์พงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นน่าห่วงมากที่สุด ในเชิงของกฎหมายคือ การซื้อยาให้ประชาชนเพื่อการป้องกันตามรัฐธรรมนูญมีการกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 55 และมาตรา 47 ว่า รัฐบาลต้องดูแลประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยาที่ใช้กับประชาชน ต้องเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน แต่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ก็ยังมีมติสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค เพิ่มอีก 10.9 ล้านโด๊ส ถึงแม้ฝ่ายรัฐอาจอ้างว่าซิโนแวค มีคุณภาพป้องกันการเสียชีวิต แต่ไม่ได้ยืนยันว่า วัคซีนที่สั่งเพิ่มป้องกันการติดได้ดีเท่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ ดังนั้นจึงต้องยื่นเรื่องทางกฎหมาย เพื่อหาทางป้องกัน เพราะถ้ายังปล่อยให้เชื้อกลายพันธุ์แพร่กระจายได้ปกติ สิ่งนี้ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง จึงอยากเตือนรัฐบาลว่า ควรจะเร่งหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เช่น วัคซีน mRNA จะมีประโยชน์มากกว่า

ส่วนแนวทางการยื่นเรื่องว่า หากประชาชนท่านใดอยากจะร้องเรียน หรือได้รับความเดือดร้อนจากวัคซีน สามารถมาได้ที่สมาคมทนายความแห่งประเทศ ไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อจะทำเรื่องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ยังรอรายชื่อประชาชนที่จะเข้าชื่อมาร้องเรียน ถ้าหากรัฐบาลคิดได้อาจจะมีการชะลอการซื้อและระงับวัคซีนกลุ่มนี้ แล้วเร่งหาวัคซีนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยช่วงนี้มาแทน เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศก็ยังสูง กลุ่มผู้ป่วยที่รอเตียงก็ล้นเพราะเตียงไม่เพียงพอ จนทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศวิกฤติหนักเข้าไปทุกที

ขณะนี้จะเร่งรวบรวมพยานหลักฐานข้อมูลทางวิชาการ ทั้งของบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบการฉีดวัคซีนซิโนแวค ไม่ว่าจะพิการหรือเสียชีวิตมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนในประเด็นต่าง ๆ โดยจะนำเรื่องนี้ไปฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริต เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้หากบุคคลได้รับวัคซีนแล้วพิสูจน์ได้ว่า วัคซีนทำให้เขาบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็ยังจะฟ้องคดีแพ่งควบคู่กับคดีอาญาได้แบบคู่ขนาน

ไล่ขยายผลสัญญาซื้อขายสู่สาธารณะ 

นายกสมาคมทนายความฯ กล่าวย้ำด้วยว่า อีกสิ่งสำคัญของการเตรียมฟ้องร้องเรื่องวัคซีนที่จะนำสู่ศาล ก็เพื่อให้รัฐบาลแสดงหลักฐานการสั่งซื้อวัคซีน ที่จะต้องนำมาเปิดเผยสู่สาธารณชน เพราะเงินทุกบาทที่รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนคือ ภาษีของประชาชน ดังนั้นรัฐบาลทำอะไรประชาชนจะต้องมีส่วนรับรู้ด้วย การเผยแพร่ข้อมูลราคากลางเป็นสิ่งที่ประชาชนจะยื่นเรื่องเข้าไปตรวจสอบได้ คดีนี้ถือเป็นประโยชน์มากหากนำเรื่องเข้าสู่ศาลอาญาคดีทุจริต เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเมื่อคดีเข้าสู่ศาล จะสามารถออกหมายเรียกเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดซื้อระบบวัคซีน ทั้งใบเสร็จ สัญญา เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลพิจารณา เพราะตามมาตรา 157 เกี่ยวกับการละเว้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ก็เป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในกรอบที่รัฐธรรมนูญรองรับอยู่

เมื่อเรื่องเข้าสู่ศาล ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประชาชนเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็จะพรั่งพรูเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ถ้ารัฐบาลทำถูกต้องก็ไม่ต้องกลัวอะไร ดังนั้นเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน หากมีประชาชนเข้ามาร่วมลงชื่อเป็นแสนคน สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จะต้องเร่งรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลที่ประชาชนคนไม่เห็นด้วยกับการสั่งซื้อซิโนแวค เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 เพื่อยื่นฟ้องตามกระบวนการยุติธรรม

สถิติฉีดวัคซีนในไทย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย (ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-11 ก.ค. 64) ฉีดวัคซีนสะสม 12,569,213 คน ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น เข็มแรก 9,301,407 โด๊ส (14.1% ของประชากร) เข็มสอง 3,267,806 โด๊ส (4.9% ของประชากร) ประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวค เข็มแรก 3,786,062 โด๊ส เข็มสอง 3,203,168 โด๊ส, วัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรก 5,296,656 โด๊ส เข็มสอง 64,089 โด๊ส และ วัคซีนซิโนฟาร์ม เข็มแรก 218,689 โด๊ส เข็มสอง 549 โด๊ส.