โรคนี้มีชื่อว่า “โรคพยาธิหนอนหัวใจ” ซึ่งในบ้านเราพบหนอนพยาธิชนิดนี้ได้ในสัตว์เลี้ยงหลายชนิด ได้แก่ สุนัข แมว และเฟอเรท โรคนี้มีข้อมูลในเรื่องของอาการป่วย การรักษา และการป้องกัน ค่อนข้างมากในสุนัข แต่ในขณะที่ข้อมูลของโรคนี้ในแมว ยังมีค่อนข้างน้อยและไม่ชัดเจน บางท่านอาจไม่เคยได้ยินหรือรู้จักโรคนี้มาก่อน หรือเจ้าของสัตว์บางท่านอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดว่าแมวน่าจะมีอาการป่วย การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันเหมือนกับในสุนัข ก่อนอื่นในลำดับแรก ขอให้ท่านผู้อ่านตระหนักไว้ก่อนเลยครับ ว่าแมวไม่ใช่สุนัขตัวเล็ก ฉะนั้นแล้ว การตอบสนองของแมวต่อการติดพยาธิหนอนหัวใจ จึงมีความแตกต่างจากสุนัขที่ติดหนอนพยาธิ ในเรื่องของระยะเวลาที่หนอนพยาธิใช้ในการเจริญเป็นตัวเต็มวัย และอายุขัยของหนอนพยาธิ  โดยแมวจะสามารถติดพยาธิหนอนหัวใจได้ จากการถูก ยุงกัด ไม่ว่าจะเป็นยุงที่พบในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งยุงที่มากัดแมวจะมีระยะติดต่อของหนอนพยาธิ หลังจากนั้น 6.5-8.5 เดือน (รูปที่ 1) จะพบพยาธิตัวเต็มวัยในเส้นเลือดแดงที่ไปปอดหรือในหัวใจของแมว แต่จำนวนหนอนพยาธิตัวเต็มวัยที่พบจะมีเพียง 1-3 ตัว หนอนพยาธิตัวเต็มวัยมีอายุขัยประมาณ 2-3 ปี และจะไม่พบระยะไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด ซึ่งเป็นระยะที่พยาธิเพศเมียปล่อยออกมาหลังได้รับการผสมพันธุ์ การไม่พบระยะไมโครฟิลาเรียซึ่งเป็นระยะที่สัตวแพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรค ทำให้ต้องใช้วิธีการวินิจฉัยที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหรือซับซ้อนขึ้น นอกจากนี้ การใช้ชุดตรวจโปรตีนที่หนอนพยาธิเพศเมียปล่อยออกมาสู่กระแสเลือด และการตรวจภูมิคุ้มกันที่แมวตอบสนองต่อการติดพยาธิหนอนหัวใจ ไม่สามารถยืนยันการติดพยาธิหนอนหัวใจได้ จากงานวิจัยพบว่า ควรมีการใช้วิธีการตรวจหลายวิธีร่วมกัน รวมถึงการใช้เอกซเรย์และการตรวจเอคโค่ และต้องมีการนัดหมายมาตรวจซ้ำ

ดร.นายสัตวแพทย์ศิวะพงษ์ สังข์ประดิษฐ์

เนื่องจากในกระเลือดของแมวไม่มีระยะไมโครฟิลาเรีย เพื่อให้พยาธิหนอนหัวใจเจริญเติบโตครบวงจรชีวิตได้ ยุงจะต้องไปกินเลือดสุนัขที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ ซึ่งจะมีระยะไมโครฟิลาเรียจำนวนมากในกระแสเลือด เมื่อยุงได้รับระยะไมโครฟิลาเรียเข้าไป จะพัฒนาต่อไปเป็นระยะติดต่อ นำระยะนี้มาสู่แมว ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีสุนัขเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ น้องแมวของเราก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ นอกจากนี้ การเลี้ยงแมวแบบระบบเปิด ให้แมวออกไปนอกบ้าน ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้ อย่างไรก็ตาม แมวที่เลี้ยงอยู่ในบ้าน แบบระบบปิด ก็ยังมีโอกาสถูกยุงที่สามารถเข้ามาในบ้านกัดได้

วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว (ที่มา www.heartwormsociety.org)

อาการของแมวที่เป็นโรคพยาธิหัวใจ เป็นอาการที่ไม่จำเพาะ ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอ อาเจียน และอาการคล้ายหอบหืด ทำให้การวินิจฉัยโรคจากอาการเป็นไปได้ยาก ในกรณีที่มีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถโตเป็นระยะตัวเต็มวัยได้ เมื่อตัวอ่อนเหล่านี้ตายที่บริเวณปอดของแมว จะทำให้แมวเกิดการตายแบบเฉียบพลัน โดยไม่มีอาการป่วยมาก่อน ปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิหนอนหัวใจในแมวได้ ยาที่ใช้รักษาพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข ไม่ปลอดภัยกับการนำมาใช้ในแมว จากที่กล่าวมาทั้งหมด การเลี้ยงแมวในระบบปิดเพื่อป้องกันโรค โดยคาดหวังว่าแมวจะไม่ถูกยุงกัด คงเป็นไปได้ยาก สิ่งที่เจ้าของแมวควรทำคือการป้องกัน โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ฆ่าหนอนพยาธิระยะติดต่อที่มากับยุง ซึ่งสามารถเริ่มให้การป้องกันได้ตั้งแต่แมวอายุ 2 เดือน นอกจากนี้ เราควรให้การป้องกันและรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับแมวของเรา ควบคู่กันไปด้วยนะครับ ในส่วนของข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว สามารถสอบถามได้จากคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านได้เลยครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องแมวจะได้รับการป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจเพิ่มขึ้น จากความรู้ความเข้าใจที่เจ้าของแมวได้รับจากบทความนี้นะครับ วันนี้ลากันไปก่อน สวัสดีครับ.

บทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์ศิวะพงษ์ สังข์ประดิษฐ์
ภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล