ข่าวใหญ่ในวงการทหารแบบไม่กลัว “ทัวร์ลง” ในวันส่งท้ายปีเก่า 2564  เมื่อ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. เปิดแผนพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ทดแทนเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่าที่ล้าสมัย ซ่อมบำรุงยาก ไม่คุ้มค่า และไม่ปลอดภัยในการบิน ในปีงบประมาณ 2566 โดยเห็นว่าเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ของบริษัทล็อคฮีท มาร์ติน สหรัฐอเมริกา เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากราคาเครื่องเปล่าลดลงจาก 142 ล้านดอลลาร์ต่อเครื่อง (ประมาณ 4,731 ล้านบาท) เหลือ 82 ล้านดอลลาร์ต่อเครื่อง (ประมาณ 2,732 ล้านบาท)

พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับเครื่องบินรบกริพเพ่น (Gripen) รุ่นใหม่จากประเทศสวีเดน ปัจจุบันราคาสูงถึง 85 ล้านดอลลาร์ต่อเครื่อง ซึ่งเครื่องบินกริพเพ่นมีประจำการอยู่ที่กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี มากว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นเอฟ-35 จึงไม่ใช่เครื่องบินที่กองทัพอากาศไทยเอื้อมไม่ถึง

พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์

ยุคพ่อซื้อเอฟ16 เจอคำถามมากมาย!

ทีมข่าว “1/4 Special Report” คุยกับผู้สันทัดกรณีในรั้วกองทัพอากาศ พาย้อนกลับไปในยุค พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ.คนที่ 10 ช่วงปี 2525-2530 ผู้เป็นบิดาของ ผบ.ทอ. คนปัจจุบัน ซึ่งยุคนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงการก่อร่างสร้างตัว สร้างฐานะความเป็นอยู่ของประเทศ โดยมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 26 แค่ 1.77 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ของกระทรวงกลาโหม 3.35 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทัพอากาศได้งบฯ 7.0 พันล้านบาท ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 30 ของประเทศ ขยับมาเป็น 2.27 แสนล้านบาท เป็นงบฯ กระทรวงกลาโหม 3.91 หมื่นล้านบาท และกองทัพอากาศได้รับการจัดสรรงบฯ 8.51 พันล้านบาท

ดังนั้นการที่พล.อ.อ.ประพันธ์กล้าตัดสินใจซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 จากบริษัท เจเนรัล ไดนามิกส์ สหรัฐอเมริกา จึงเป็นเรื่องท้าทาย และมีการตั้งคำถามจากสังคมไทยมากมาย เนื่องจากเป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงมาก เพราะก่อนหน้านั้นกองทัพไทยมักจะได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ (ฮ.) รถถัง รถหุ้มเกราะ แบบให้เปล่า หรือจัดซื้อในราคาพิเศษมากในฐานะประเทศพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐ โดยอาวุธดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกปลดประจำการมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเวียดนาม

คำถามอันดับแรก ๆ ของการจัดการเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 ในยุค พล.อ.อ.ประพันธ์ คือปัญหาทางเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของประเทศยังไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ยังมีกลิ่นอายการปฏิวัติรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อ

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมจึงไม่ซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ 20 ไทเกอร์ชาร์ค ของบริษัทนอร์ทธรอป สหรัฐ ที่กำลังมาแรง! เนื่องจากเป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องบินขับไล่เอฟ 5 ที่มีประจำการในกองทัพอากาศไทยอยู่แล้ว เพราะเอฟ 5 และเอฟ 20 ผลิตจากบริษัทเดียวกัน ดังนั้นน่าจะประหยัดในหลาย ๆ เรื่องลงไป ทั้งการฝึกนักบิน การบำรุงรักษาซ่อมแซมในระยะยาว

แต่โชคดีที่เอฟ 20 เจอปัญหาการเมืองภายในสหรัฐ สุดท้ายจึงพ่ายแพ้ให้กับเอฟ 16 ของบริษัท เจเนรัล ไดนามิกส์ ถูกคัดเลือกให้เข้าประจำการในกองทัพอากาศสหรัฐ ทำให้บริษัทนอร์ทธรอป ต้องปิดสายการผลิตเอฟ 20 ไปในที่สุด

ภัยสู้รบทำให้เอฟ 16 ได้ไฟเขียวยุคป๋า

แม้ พล.อ.อ.ประพันธ์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องบินรบเอฟ 16 แต่สถานการณ์บ้านเมืองในยุคนั้นมีภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ถือว่าอยู่ในขั้นสุ่มเสี่ยง เนื่องจาก
มีการสู้รบกับผกค.อย่างหนักหน่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น ภูหินร่องกล้า-เขาค้อ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย โดยมีการใช้กำลังทางอากาศบินเข้าไปถล่มฐานที่ตั้งของ ผกค. แล้วถูก ผกค.ใช้จรวดยิงเครื่องบินเอฟ 5 ตก 2 ลำ และนักบินเสียชีวิต

ไหนจะเป็นสงครามระหว่างไทย-ลาว ที่บ้านร่มเกล้า อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ช่วงปลายปี 30 มีการใช้เครื่องบินรบเอฟ 5 เข้าไปทิ้งระเบิดใส่ข้าศึก แต่ถูกฝ่ายลาวใช้จรวดแซมจากประเทศรัสเซีย สอยเครื่องบินรบเอฟ 5 ตกไปด้วย    

หรือแม้แต่การสู้รบกับทหารเวียดนามที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ในเดือนมี.ค.30 ซึ่งเครื่องบินรบเอฟ 5 ของไทยถูกทหารเวียดนามยิงด้วยจรวดแซมได้รับความเสียหาย แต่นักบินสามารถประคองเครื่องกลับมาลงจอดที่กองบิน 21 จ.อุบลราชธานี ได้อย่างปลอดภัย

โดยในห้วงนั้นสถานการณ์แนวชายแดนภาคตะวันออกและภาคอีสานตอนล่าง คุกรุ่นมากจากกองกำลังทหารเวียดนามที่เข้ายึดครองกัมพูชา และมีเป้าหมายที่จะบุกเข้าไทยด้วย ซึ่งขณะนั้นเวียดนามมีขนาดกองทัพที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร เพราะได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียอย่างเต็มที่  โดยเฉพาะกำลังทางอากาศนั้นมีเครื่องบินรบมิก 21 และมิก 23 ซึ่งว่ากันว่ามีสมรรถนะเหนือกว่าเอฟ 5 ของไทย นอกจากนี้เวียดนามยังมีจรวดแซมประจำการอีกหลายรุ่น

ประกอบกับในช่วงดังกล่าวแม้จะไม่อยู่ในสถานการณ์สู้รบทั้งในประเทศและตามแนวชายแดน แต่เอฟ 5 ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานพอสมควร ได้ประสบอุบัติเหตุตกในระหว่างการบินฝึกซ้อมไปหลายลำ และนักบินเสียชีวิตหลายศพ โครงการจัดหาเครื่องบินรบสมัยใหม่แบบเอฟ 16 ของ พล.อ.อ.ประพันธ์จึงได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แล้วเอฟ 16 ก็ทยอยเข้าประจำ
การที่กองบิน 1 อ.เมือง จ.นครราชสีมา และกองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.31 รวม 3 ฝูงบิน โดยปัจจุบันมีเอฟ 16 ประจำการอยู่กว่า 50 ลำ

“เครื่องบินรบ” รอบ ๆ บ้านเรา

ปัจจุบันกองทัพอากาศไทย ประจำการด้วยเครื่องบินรบเอฟ 16/เอฟ 5/กริพเพ่น/อัลฟ่าเจ๊ต/แอล 39 รวมกันประมาณ 150 ลำ ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งไม่ได้มีแผ่นดินติดกับไทย แต่สิงคโปร์ซึ่งมีสภาพเป็นเกาะจึงให้ความสำคัญกับกำลังทางอากาศเป็นอย่างมาก ดังนั้นสิงคโปร์จึงมีกำลังทางอากาศทันสมัยที่สุดในอาเซียนด้วยเครื่องบินเอฟ 16 หลายรุ่น ได้รับการ “อัพเกรด” ตลอดเวลา และปี 63 สหรัฐ อนุมัติขายเครื่องบินรบเอฟ 35 จำนวน 12 ลำ พร้อมอุปกรณ์เสริมให้กับสิงคโปร์ ด้วยวงเงินประมาณ 2,750 ล้านดอลลาร์ สิงคโปร์จึงเป็นชาติแรกในอาเซียนที่จะมีเอฟ 35 เข้าประจำการประมาณปี 65

กองทัพเมียนมา ประจำการด้วยเครื่องบินรบมิก 29 จากรัสเซีย ซึ่งมีสมรรถนะพอฟัดพอเหวี่ยงกับเอฟ 16 รวมทั้งเครื่องบินรบเอฟ 7 เอ็ม จากประเทศจีน ส่วนกองทัพเวียดนามแม้ไม่มีพรมแดนติดกับไทย แต่เวียดนามก้าวหน้าด้วยเครื่องบินรบในตระกูลมิก และซู 30 รุ่นทันสมัยที่สุดจากรัสเซีย รวมทั้งจรวดแซมอีกเพียบ

กองทัพมาเลเซีย มีประจำการด้วยเครื่องบินรบจากหลายค่ายทั้งสหรัฐ รัสเซีย และอังกฤษ เช่น เครื่องบินเอฟ 18 (สหรัฐ) เครื่องบินซู 30 และมิก 29 จากรัสเซีย และเครื่องบินฮอล์ค จากอังกฤษ

ทางด้านกองทัพกัมพูชาประจำการด้วยเครื่องบินแอล 39 และมิก 21 ขณะที่ สปป.ลาว ประจำการด้วยมิก 21 จากรัสเซีย ซึ่งน่าจะเก่ามาก แม้กัมพูชาและลาวจะไม่มีเครื่องบินรบทันสมัยเหมือนประเทศอื่น แต่กัมพูชาและลาวทดแทนด้วยจรวดแซมหลายรุ่นของรัสเซียประจำการอยู่ ใครทะเล่อทะล่าบินเข้าไป มีโอกาสถูกจรวดแซมสอยร่วงได้ง่าย ๆ เหมือนกัน

ยุคนี้ไม่ง่าย! อยากให้ปฏิรูปกองทัพก่อน!

 สรุปภาพรวมการจัดหาเครื่องบินเอฟ 35 ประมาณ 8-12 ลำในยุค พล.อ.อ.นภาเดชจึงไม่ง่ายเหมือนการจัดซื้อเอฟ 16 ในยุคของผู้เป็นพ่อ เพราะสถานการณ์จากภัยการสู้รบรอบ ๆ บ้าน ไม่มีแนวโน้มถึงขั้นใช้กำลังทางอากาศ ไหนจะปัญหาใหญ่มากคือเรื่องเศรษฐกิจซบเซา ภาระหนี้สินของประเทศ หนี้สินภาคครัวเรือนสูง

รวมทั้งความโปร่งใสในเรื่องการจัดซื้ออาวุธในยุครัฐบาลทหาร ที่ชอบซื้อของแพงกว่าประเทศอื่น ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของคนในประเทศให้มีการปฏิรูปกองทัพ ต้องลดจำนวน “นายพล” ลง! โดยเฉพาะกองทัพอากาศในปัจจุบันซึ่งมีกำลังพลประจำ
การอยู่กว่า 40,000 คน มากมายไปหรือเปล่าถ้าเทียบกับประเทศ
เพื่อนบ้าน?.