ตั้งแต่โควิดระบาดด้วยสายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย นับตั้งแต่ “อู่ฮั่น” มาจนถึงสายพันธุ์ อัลฟา เดลตา หรือเบตา ในบางพื้นที่ จนถึง สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งในแง่ของความสามารถในการแพร่ระบาด การก่อโรครุนแรง ที่มากน้อยแตกต่างกัน ทำให้กรมการแพทย์ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต้องหารือกันชนิดห้ามกะพริบตาเพื่อจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยในประเทศไทยให้เหมาะสมที่สุด รวม ๆ แล้ววันนี้ก็นับได้ทั้งหมด 20 ฉบับเข้าไปแล้ว

ทั้งนี้ ฉบับล่าสุด คือ ฉบับที่ 20 เพิ่งออกมาสด ๆ ร้อน ๆ ให้สอดรับกับสายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่กำลังแพร่กระจายเป็นสายพันธุ์หลักในไทย กว่า 95% เป็นผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง อีก 4-5% มีอาการปานกลาง ดังนั้นการรักษา การให้ยารักษาจึงปรับใหม่ยึดตามอาการคนไข้เป็นหลัก

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์

กลุ่มที่ 1 กรณีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือยังสบายดี โดยการรักษาแบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน จะดูแลตามดุลพินิจของแพทย์ ไม่ได้ให้ยาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์” เพราะส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่อาจจะมีการให้ยาฟ้าทะลายโจร

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่

กลุ่มที่ 3 กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีไข้ 38-39 อายุ 65 ปีขึ้น มีโรคร่วมสำคัญ แพทย์พิจารณาแอดมิทใน รพ. เพราะเสี่ยงที่โรคจะพัฒนารุนแรงขึ้น และพิจารณาให้ยารักษาตามความเหมาะสม ซึ่งมีอยู่หลายชนิด

กลุ่มที่ 4 ซึ่งอาการรุนแรงนั้นอยู่ใน รพ.อยู่แล้ว แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

สำหรับประเด็นสำคัญในสังคมไทยตอนนี้ คนที่ตรวจพบว่ามีการ “ติดเชื้อ” จำนวนมากแม้จะไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไอ เจ็บคอ เป็นต้น ยังมีความต้องการอยากจะได้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” โดยคิดเอาเองว่า “กินกันไว้ก่อน” แต่เรื่องนี้ไม่ควรจะคิดเอาเอง เพราะ “ยา” ไม่ใช่ “ขนม” กินตามคำแนะนำแพทย์จะดีที่สุด

ทั้งนี้ “นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์” ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ได้ยํ้าไปในทิศทางเดียวกันกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ ว่า “โอมิครอน” ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์แต่อย่างใด การกินยาตัวนี้โดยไม่จำเป็น อาจจะเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงเสียเปล่า ๆ เฉพาะระยะสั้นที่เห็นกันแล้ว ก็มีคลื่นไส้ อาเจียน ตาเป็นสีฟ้า

แต่ผลระยะยาวยังไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งดูจากจำนวนการใช้ยาในปัจจุบันก็วันละ 2 ล้านเม็ด หรือเดือนละ 60 ล้านเม็ด มากมายขนาดนี้ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังกังวลในประเด็นเรื่องของเชื้อดื้อยา ซึ่งตามทฤษฎีย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้าเชื้อสัมผัสกับยาบ่อย ๆ ก็จะเกิดการดื้อยาได้ และถ้ามีการดื้อยาเกิดขึ้นจริง ๆ ให้กินฟาวิพิราเวียร์ ก็เหมือนกินแป้งไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการใช้ยาอย่างสมเหตุผลจึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด.

คอลัมน์     :  คุณหมอขอบอก
เขียนโดย  :  อภิวรรณ เสาเวียง