เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นครึก โครม…กับลักษณะบุคคลในเหตุการณ์ที่บางคนก็เป็นประเภท “สุดจะกร่าง!!” หรือบางรายก็ “สุดจะถ่อมตน??” นั้น สำหรับผู้คนทั่วไปในสังคม นี่ก็อาจมีประโยชน์ในเชิงหันมาพินิจตนเองเพื่อเท่าทันป้องกันปัญหาด้านจิตใจ… ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนให้พิจารณากัน โดยมาดูที่กรณี “รู้สึกว่าตนเองไม่สำคัญ” ซึ่ง…

ถ้าถึงขั้น “รู้สึกตลอดว่าตนเองด้อยค่า” ต้อง “ระวัง”

“ด้อยค่าตัวเอง-บูลลี่ตัวเอง” นี่ยึดโยงกับสภาพจิตใจ

หากปล่อยทิ้งไว้ไม่แก้ไข “อาจทำให้มีปัญหาทางจิต”

ทั้งนี้ ในยุคโซเชียลมีเดียที่มี “เกรียนคีย์บอร์ด” เกลื่อนโลกโซเชียล กรณี “บูลลี่ผู้อื่น-ด้อยค่าผู้อื่น” มีเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ…ซึ่งนั่นก็มุมหนึ่ง ขณะที่อีกมุม…กับกรณี “บูลลี่ตัวเอง-ด้อยค่าตัวเอง” นี่ก็น่าจะได้พิจารณากันไว้ ซึ่งกรณีนี้มีการให้ข้อมูลไว้ผ่านบทความในเว็บไซต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอ้างอิงการให้ข้อมูลโดย ดร.พนิตา เสือวรรณศรี อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา หลักใหญ่ใจความมีว่า… กระบวนการ เหยียดและด้อยค่าตัวเอง (Internalized Racism) นี่หมายถึงการกระทำในทางตรงกันข้ามกับการถูกเหยียดหรือด้อยค่าโดยผู้อื่น คือตนเองตัดสินใจด้อยค่าตัวเองหรือเหยียดตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมของผู้มีภาวะ Internalized Racism นั้น มักจะนำคำพูดด้อยค่ามาเป็นความจริงของตัวเอง!!

การ “เหยียดตัวเอง” นี่ก็เป็นภาวะที่ต้องระวังด้วย…

เพราะเรื่องนี้เป็น “เสมือนเนื้อร้ายทำลายความสุข”

ดร.พนิตา ที่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ภาวะ Internalized Racism” ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เคยได้สัมผัสมา โดยระบุไว้ว่า… สมัยที่เรียนอยู่ในต่างประเทศ เวลาที่ไปเที่ยวโดยเครื่องบินกับเพื่อน ๆ ต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ตนเองมักจะบอกกับเพื่อน ๆ ว่า…ให้รอด้วย เพราะน่าจะเป็นคนสุดท้ายที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ด้วยความที่เป็นคนละเชื้อชาติ ซึ่งก็เกิดขึ้นจริง ๆ โดยในตอนนั้นตนเองมองว่า… สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งมีคนบอกว่า… เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ!! เพราะ ไม่ควรมีใครโดนเหยียดหรือโดนอคติมากกว่าคนอื่น และ ที่สำคัญ…ตนเองก็ไม่ควรเหยียดตัวเอง ด้วย!!…

นี่เป็นประสบการณ์ตรง-สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ที่เกิดการ “เหยียดตัวเอง” แบบที่ไม่ทันได้รู้ตัว!!…

เกี่ยวกับภาวะนี้ หรืออาจเรียกว่า “โรคเหยียดตัวเอง” ทางนักวิชาการท่านเดิมยังได้อธิบายไว้ว่า… ความคิดที่ว่าเราด้อยกว่า ไม่มีคุณค่าเท่า หรือเราไม่เก่ง ย่อมมีผลทำให้ลดทอนความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิต อาชีพการงาน ของผู้มีภาวะนี้ ซึ่งเมื่อบุคคลใดบุคลหนึ่งคิดหรือพูดด้อยค่าตนเองซ้ำ ๆ อยู่เป็นประจำ ความคิดและความรู้สึกนั้นก็จะค่อย ๆ ซึมซับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบความคิดโดยอัตโนมัติ จนทำให้เกิด “กระบวนการด้อยค่าตัวเอง” ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ได้จำกัดแค่ประเด็นเชื้อชาติ แต่ครอบคลุมถึงเรื่องการ “ยอมรับการกดขี่” ซึ่งก็เป็น “สัญญาณของภาวะ  Internalized Racism”

“สัญญาณเบื้องต้น” ของภาวะ Internalized Racism นั้น ทาง ดร.พนิตา ยังได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… อาจประกอบด้วยลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้คือ มักรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น หรือต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา โดยเมื่อใดที่เกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้น แนะนำให้ควรกลับมาตรวจสอบตัวเองดูว่า… ปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ เกิดจากตัวเราเองนั้นไม่เก่งจริง หรือขาดประสบการณ์ หรือเกิดจากขาดความมั่นใจ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากเกิดจากความรู้สึกที่ว่า…ตัวเราเองไม่น่าเชื่อถือ ถ้าเป็นกรณีนี้ก็อาจจะเข้าข่ายเป็น Internalized Racism และ อีกสัญญาณหนึ่งก็คือ มักเฉยชากับการเรียกร้องความเท่าเทียม หรือมักจะ เห็นด้วยกับระบบสังคมที่กดทับ โดยที่ตนเองก็อยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้รับความเท่าเทียม เช่นกัน…

สำหรับแนวทางปรับความคิด เพื่อ “ปลดตัวเองจากโรคเหยียดตัวเอง” นั้น ดร.พนิตา ได้แนะนำไว้ในบทความว่า… มีด้วยกัน 4 แนวทางที่จะช่วยเปลี่ยนอุปนิสัยทางความคิด ซึ่งโดยสังเขปมีดังนี้คือ… มีสติเท่าทันความคิดในการดำเนินชีวิต ด้วยการตระหนักรู้ว่ากำลังรู้สึกอะไร เพราะอะไร เพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และตั้งคำถามกับตัวเอง, มีเมตตาต่อตัวเอง ด้วยการรู้จักชื่นชมและเห็นคุณค่าตัวเองในแบบที่เราเป็น, เปิดใจยอมรับความแตกต่าง ด้วยการหาความรู้และประสบการณ์ รวมถึงจากการทำความรู้จักกับผู้คนให้หลากหลายยิ่งขึ้น และอีกแนวทาง เข้าร่วมกลุ่มที่สนับสนุนให้กำลังใจกันและกัน

ทั้งนี้ ดร.พนิตา ยังระบุไว้ด้วยว่า… คนรุ่นใหม่มีทัศนคติที่ยอมรับความหลากหลายมากขึ้นและให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างความเท่าเทียมมากกว่าในอดีต เพราะเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกมากขึ้น แล้วย้อนตั้งคำถามว่าทำไมในไทยยังมีเรื่องนี้ แล้วเริ่มเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แบนทัศนคติที่เป็นการเหยียดกัน ซึ่ง การลด Internalized Racism เป็นขบวนการที่ใช้เวลา แต่แม้จะยาวนานก็ต้องทำไปเรื่อย ๆ เพื่อสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข…

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับทัศนคติที่เป็นการเหยียดในมุมกลับ กับกรณี “เหยียดตัวเอง” หรือ “ด้อยค่าตัวเอง” หรือ “บูลลี่ตัวเอง” นั้น กับกรณีนี้ก็มีหลักใหญ่ใจความอีกส่วนที่สำคัญจาก “คำแนะนำ” กล่าวคือ… ความรู้สึกต่ำต้อยนั้นไม่มีแก่นสารและไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะมนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องสมบูรณ์แบบ ซึ่งถ้าใคร เกิดความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ล่ะก็… 

ก็ควรจะมีการตรวจสอบกลับมาที่ตัวเองให้ชัดว่า… 

“เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นแค่สิ่งที่เราคิดไปเอง??”.