จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบทั่วประเทศมีทางข้าม (ทางม้าลาย) จำนวน 10,254 จุด มีสัญญาณไฟจราจร จำนวน 1,262 จุด กล้องวงจรปิด (CCTV) จำนวน 1,881 จุด และเตรียมทำทางม้าลายเพิ่ม 328 จุด ยกเลิก/ปรับย้าย 25 จุด

ขณะที่แผนการปรับปรุงซ่อมแซมเส้นทางม้าลายจำนวน 2,853 จุด ทำแล้วเสร็จ 1,523 จุด เหลืออีก 1,330 จุด

แผนติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางม้าลายเพิ่ม 584 จุด ทำเสร็จ 82 จุด คงเหลือ 502 จุด

แผนติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มอีก 898 จุด ทำเสร็จ 111 จุด คงเหลือ 787 จุด

แผนติดตั้งแถบชะลอความเร็วเพิ่มเติม 974 จุด ทำเสร็จ 170 จุด คงเหลือ 804 จุด

เฉพาะ เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ข้อหาหลักเกี่ยวกับทางม้าลาย 4 ข้อหา ได้แก่ 1.ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในเส้นทางข้าม 2.ไม่ข้ามถนนตรงทางข้าม 3.จอดรถในทางข้าม 4.ขับรถโดยใช้ความเร็วบริเวณเส้นทางข้ามเกินกฎหมายกำหนด จับกุมดำเนินคดีได้ 2,742 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก ปรับเพิ่มอัตราโทษข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรทุกประเภท ยกตัวอย่าง

ข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายทางม้าลาย จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท แก้เป็นปรับไม่เกิน 4,000 บาท

ข้อหาจอดรถในทางม้าลาย จากเดิมปรับไม่เกิน 500 บาท แก้เป็น ปรับไม่เกิน 2,000บาท

เป็นความคืบหน้ามาตรการเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยบนท้องถนนที่เห็นความกระตือรือร้นชัดขึ้นหลังเหตุการณ์สูญเสีย “คุณหมอกระต่าย” พญ.วราลัคน์  สุภวัตรจริยากุล ที่เสียชีวิตจากการถูกบิ๊กไบค์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นมาตรการติดตั้งอุปกรณ์ สอดส่อง ปรับปรุงสภาพใช้งานที่ดีขึ้น แต่ “หัวใจ” สำคัญอย่าง “วินัยจราจร” ของผู้ขับขี่ต้องยอมรับว่าแทบไม่ “กระเตื้อง” หรือขยับให้เห็นภาพที่ดีกว่าเดิม

สังเกตได้จากเหตุร้ายที่คนเดินเท้าประสบทุกวี่วัน ตั้งแต่บาดเจ็บ ไปจนถึงเสียชีวิต ส่วนใหญ่มาจากจิตสำนึก วินัยจราจรที่ยังบกพร่องหนัก ไม่ตระหนักถึงความสูญเสีย ยกตัวอย่างกรณีหญิงตั้งครรภ์เดินข้ามถนนและเกือบถูกรถกระบะชนขณะเดินข้ามตามสัญญานไฟจราจรเมื่อเร็ว ๆ นี้ สะท้อนชัด…

จิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนน ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทันทีกับทุกคน!!!

บางความสูญเสียไม่ทำให้ทั้งสังคมเรียนรู้ที่จะนำมาเป็นบทเรียน แต่ต้องอาศัยความเอาจริง เอาจังของกฎหมายเป็น “ตัวนำ” เพื่อไม่ให้ภาพ “ไม่หยุดรถให้คนข้าม” หรือ “ชนคนเดินข้าม” กลายเป็นภาพชินตาเหมือนที่ผ่านๆ มา

ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสอดส่อง และติดตาม “ความรับผิดชอบ” โดยเฉพาะตำรวจที่จะมีบทบาททำให้ภาพการลงโทษฐานฝ่าฝืนกฎหมาย “ศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นชัดเจน

เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดที่เร่งติดตามหาตัวผู้กระทำผิด และดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายในข้อหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น จากพฤติการณ์ขับรถมาด้วยความเร็วสูงเกินสมควรในขณะที่มีการจราจรหนาแน่นและขับขี่โดยฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (สีแดง) ไม่หยุดรถให้คนข้ามบริเวณทางข้ามม้าลาย 

กระบวนการทางกฎหมายเช่นนี้ หากทำได้รวดเร็ว ฉับไว เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกกรณี น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก “ตรงจุด” สะท้อนผลลัพธ์ความปลอดภัยบนท้องถนนได้ชัดเจนขึ้น.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]