เชื่อได้ว่า!! ณ เวลานี้ พี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ยังคงตามติดอยู่กับกระแสโครงการ “คนละครึ่ง เฟส 5” ว่า…สุดท้ายแล้วรัฐบาลของท่านผู้นำ “บิ๊กตู่” จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อหรือไม่

เพราะอย่าลืมว่า ที่ผ่านมา การจัดทำโครงการคนละครึ่ง ทั้ง 4 เฟส ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 63 จนถึงเวลานี้ รวม 18 เดือน ใช้เงินรวม ๆ กันแล้วก็กว่า 2 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว หรือเกือบ 15% ของ พ.ร.ก.กู้เงิน รอบแรก 1.5 ล้านล้านบาท

แม้เป็นเรื่องจำเป็น ที่รัฐบาลต้องกู้เงินมาประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปให้ได้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศ หลังคนไทยทั้งประเทศต้องเจอกับพิษสงอันรุนแรงของไวรัสโควิด ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมหาศาล

แต่การช่วยเหลือ การดูแล ถือว่ามาถูกทางหรือไม่? นี่สิ.. เป็นเรื่องที่น่าคิด น่าตรึกตรอง!!

ด้วยเพราะระบบการดูแลการบริหาร ของฝ่ายบริหารประเทศทุกยุคทุกสมัย ต่างทำให้คนไทยทั้งประเทศ “เคยชิน” กับการได้รับความช่วยเหลือด้วยการ “แจกเงิน” ในสารพัดรูปแบบ แตกต่างกันไปในแต่ละวิถีของแต่ละยุค

ขณะที่ การพัฒนา…การสร้างอาชีพ!! ให้ประชาชนคนไทยอยู่ได้ด้วยบนลำแข้งของตัวเอง ดูจะไม่เบ่งบาน หรือเป็นที่ถวิลหาของประชาชนคนไทยเท่าใดนัก

ด้วยระบบระบอบและวิถีที่เคยชิน ทำให้เป้าหมายของการ “ซื้อใจ” จึงนำหน้า “การพัฒนา” ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นทุกรัฐบาลเลือกใช้วิธี “แจกเงิน”

เรื่องนี้!! ยังถูกสำทับ จากบรรดาโพลทุกสำนัก ที่ออกมาในทิศทางเดียวกันและยกให้โครงการ “คนละครึ่ง” เป็นโครงการ “ที่หนึ่ง” ในดวงใจ ประชาชนคนไทยต่างถูกใจใช่เลย กับโครงการนี้ ขณะที่รัฐบาลเอง ต่างก็ออกมาตีอกชกตัว ต่างมาเคลมกับความสำเร็จของโครงการ

ทั้งที่เงินที่นำมาใช้ดูแลนั้น ต่างมาจากเงินกู้ ที่สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้น ที่ประชาชนคนไทยนั่นแหละ ต้องแอ่นอกรับผิดชอบในภายหลัง เหมือนกับเงินกู้ในช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ผ่านมา 25 ปีแล้ว ยังใช้หนี้ไม่หมด

ต่อให้…ไม่มีทางหลีกเลี่ยง มีความจำเป็นต้องเลือกใช้วิธี “กู้เงิน” มาดูแล มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ตาม แต่การดูแล ก็ย่อมต้อง “มีลิมิต” ต้องมี “วิธีการอื่น” เข้ามาดูแล มาบริหารจัดการ

ไม่เช่นนั้น ปัญหาจะตกอยู่กับฐานะการคลังของประเทศ ที่เมื่อ “กู้” เมื่อ “แจก” ทับถมกันนาน ๆ อาจทำให้ถังน้ำที่เวลานี้ก็ยักแย่ยักยันอยู่แล้วอาจปริแตก ออกมา เพราะ…รับไม่ไหว!!

หากจำกันได้เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาล ได้เห็นชอบให้ขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี ออกไปเป็น 70% เพื่อเปิดพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล

ขณะเดียวกันยังมีการขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ จาก 30% เป็น 35% เพื่อเพิ่มวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการประกันรายได้ให้กับชาวนา

การขยายเพดานหนี้ เช่นนี้ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณ ที่ต้องจับตามอง ต่อให้รัฐบาลยืนยันเรื่องของการบริหารจัดการแบบว่า “เอาอยู่” ก็ตามทีเถอะ แต่ในอนาคตยังไม่มีใครการันตีได้

ไม่เพียงเท่านี้…ขุนคลังอย่าง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ได้ให้แง่คิด ที่ทุกคนต้อง “หยุดคิด” ว่า… การเดินหน้าต่อคนละครึ่งเฟส 5 ต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่? เพราะต้องใช้งบประมาณสูง และกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ส่วนที่ทุกคนต้องหยุดคิด!! มากขึ้น ก็ตรงที่ว่า ที่ผ่านมาการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ก็ช่วยในระดับหนึ่งในช่วงที่ยังเผชิญปัญหาเรื่องรายได้ แต่เวลานี้…เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รายรับของประชนชนเริ่มกลับมา ก็ควรลดมาตรการดังกล่าวลงมา

เหนือสิ่งอื่นใด!! ที่ต้องหยุดคิดมากไปกว่านั้น ก็คือ.. การปรับแนวทางการช่วยเหลือเข้าไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อทำให้ประชาชนกลับมามีรายได้เพิ่ม  

ต่อให้ ผลงานการจัดเก็บรายได้ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-มี.ค.65) จะสูงกว่าเป้าหมายถึง 6.7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.8% โดยจัดเก็บได้สุทธิ 1.09 ล้านล้านบาท ก็ตาม

แต่ก็อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ ยอดหนี้สาธารณะล่าสุดของไทย ณ วันที่ 28 ก.พ.65 สิ้นเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 60.17% ต่อจีดีพี โดยมีมูลค่ากว่า 9.82 ล้านล้านบาท

อย่างที่บอก…อนาคตยังไม่มีใครบอกได้ แถมหนี้ครั้งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งยังคาอยู่อีกเกือบ 8 แสนล้านบาท ยังใช้ไม่หมด หากรัฐบาลมุ่งแต่กู้เงิน แล้วอีกกี่ปีกี่ชาติคนไทยจะไม่มีหนี้!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”