เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน มีรายละเอียดดังนี้

(1) ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก)
(2) ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน)
(3) ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

นายธนกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น อาทิ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง, เพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน หรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างและภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน, รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างจากเดิมอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นอายุ 65 ปีบริบูรณ์

นายธนกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบ สามารถเลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติมโดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุน แต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนอาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานชี้แจงเพิ่มเติมเรื่อง ครม.เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมกรณีเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพออกใช้ก่อนว่ากองทุนประกันสังคมเป็นไตรภาคี ระหว่างรัฐบาล นายจ้าง และ ลูกจ้างซึ่งในส่วนแก้ไขเพิ่มเติม มีหลักการ 3 ข้อ

(1) ข้อแรกข้อคือ “ขอเลือก” ของเดิมกองทุนชราภาพ ต้องรอส่งเงินเกิน 180 เดือน หรือ อายุ 55 ปีได้เป็นบำนาญ แต่ใครส่งไม่ครบ 180 เดือนได้บำเหน็จ กลายเป็นไม่มีประตูให้เลือก แต่ของใหม่แก้ให้สามารถเลือกได้คือพออายุ 55 ปี ครบกำหนดเกษียณหากมีหนี้สิน ต้องใช้เงินก้อนให้สามารถเลือกได้จะเอาบำเหน็จหรือบำนาญ

(2)ข้อสองคือ “ขอกู้” ยกตัวอย่างหากผู้ประกันตนมีเงินสะสมชราภาพ 200,000 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินสด ไม่มีเครดิตไปกู้สถาบันการเงิน ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิผู้ประกันตนใช้เงินชราภาพไปค้ำประกันเงินกู้ เปรียบกับผู้ประกันตนมีหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้แน่นอนยิ่งกว่าที่ดิน คือเงินที่หักไปให้ประกันสังคมทุกเดือนซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้เงินไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ

(3)ข้อสามคือ “ขอคืน” สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่สมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนมาบางส่วน

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นักวิชาการห่วงใยว่าการนำเงินออกมาใช้ก่อนจะส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมนั้น ตนขอชี้แจงว่าการขอคืนไม่ใช่ทำได้เลยแต่ต้องเกิดวิกฤติ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ถูกล็อกดาวน์ และเป็นวิกฤติของโลกเราจึงออกเป็นกฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือซึ่งจำเป็นต้องทำเรื่องนี้ เพราะกฎหมายประกันสังคมใช้มา 33 ปี ไม่เคยแก้ไข และไม่เคยแก้ปัญหาในยามจำเป็นทุกคนที่มาบริหารคิดอย่างเดียวว่ากองทุนต้องให้คงไว้ ซึ่งความจริงกองทุนนั้นคงไว้อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกันตนมีประตูที่เข้าไปรับการช่วยเหลือได้หลายประตู

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม หลังจากนี้จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาในรายละเอียด ก่อนส่งกลับมายัง สปส.เพื่อให้ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ก่อนส่งเข้า ครม. อีกครั้งเพื่อพิจารณา และส่งเข้าสภาเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จะมีการแถลงในรายละเอียดในวันที่ 11 พ.ค. ที่กระทรวงแรงงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงถึงสาเหตุที่ ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน หลายประเด็นเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่เพิ่มเติมและครอบคลุมยิ่งขึ้น.