ที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ พบปะแม่เลี้ยงเดียว ในประเด็น เราคือ พี่น้องกัน “SATU HATI” ประชาชาติไม่ทิ้งประชาชน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รู้สึกมีความตั้งใจกับความดีใจที่ได้มาทำกิจกรรมที่เป็นความคิดริเริ่มของพี่น้องในพื้นที่ กิจกรรมที่มีความสำคัญในเรื่องการศึกษา ยังจำได้ว่าตอนที่เข้ามาอยู่ ศอ.บต. มีปัญหาอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ คือ 1.คนยากจน 2.คนเจ็บป่วย 3.คนไม่มีความรู้ ซึ่งทั้ง 3 ข้อเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยเหลือ แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อน มีคำถามอยู่ว่าจะเลือกสิ่งใด ท่านประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา เป็นผู้ตอบว่าถ้าจะต้องเลือกก็จะเลือกข้อ 3 คนไม่มีความรู้ เพราะจะต้องทำให้คนมีความรู้ คือเลือกเรื่องการศึกษาก่อน

ในช่วงเกิด โควิด-19 ที่การศึกษาของประเทศได้รับผลกระทบมากที่สุด เราจะเห็นว่าเมื่อเกิดโควิดสิ่งที่นายกฯประยุทธ์กับคณะได้เลือกปิดอะไรก่อน? คือเลือกปิดโรงเรียนหรือปิดการศึกษาก่อน หมายถึงเลือกปิดการหาความรู้ก่อน แล้วจึงปิดเศรษฐกิจต่างๆ และปิดประเทศ แต่พอจะเปิด นายกฯประยุทธ์ก็ไปเปิดเศรษฐกิจและเปิดประเทศก่อน แต่ไม่ยอมเปิดโรงเรียน ทำให้หยุดเรียนในระบบไป 2 ปี และจะมาเปิดโรงเรียนในวันที่ 17 พ.ค.นี้ มันย้อนแย้งกับความสำคัญ การทิ้งเวลาไป 2 ปีกับการปิดการศึกษา ปิดกั้นความรู้ ที่เสียหายมาก มันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ซึ่งในประเทศต่างๆ เขาไม่ทำแบบประเทศไทย เพราะว่า “เขาไม่นิยมความโง่เขลา” การจะชนะทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องชนะด้วยความรู้ ทุกสิ่งที่สำคัญในโลกไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความรู้ มนุษย์เกิดมามีสมองกับสติปัญญา ดังนั้นเพื่อต้องการให้มนุษย์ทุกคนได้ศึกษาเรียนรู้ การที่ประเทศไทยเราไปปิดการศึกษาเป็นเวลา 2 ปี ทำให้เราเสียโอกาส ถึงแม้ว่าจะมีการเรียนออนไลน์ก็ตาม

แต่สำหรับพี่น้องในพื้นที่ค่อนข้างทำได้อย่างยากลำบาก ขาดแคลนอุปกรณ์มือถือ คอมพิวเตอร์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกเลยว่าถ้าใครที่ยากไร้ให้รัฐมีกองทุนให้เรียนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แต่พอมาดูกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีงบประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท แต่กลับให้เฉพาะกับโรงเรียนใน สพฐ. หรือโรงเรียนของรัฐบาล ในขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้เรียน ผู้ปกครองนิยมเรียนประมาณ 600 โรงเรียน สถาบันปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นอุดมการณ์และจิตวิญญาณและเป็นสถานที่ให้ความรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ให้การช่วยเหลือ ช่วยเหลือแต่โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เท่านั้นที่ให้ฟรีอยู่แล้ว ช่วยเหลือพิเศษผู้ยากจนอีกคนละ 3,000 บาท ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและโรงเรียนเอกชนอื่นๆที่มีเด็กอยากจนยิ่งกว่ากลับไม่ได้ให้ มันเป็นความเหลื่อมล้ำในกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งพวกเราเข้าไม่ถึง

โดยเฉพาะการเปิดการศึกษาในวันที่ 17 พ.ค.นี้ สภาพเศรษฐกิจที่ทุกคนมีความยากลำบาก รัฐบาลสร้างเงื่อนไขข้อกำหนดในการเปิดเรียนไว้มาก สร้างข้อจำกัดมากทุกข้อกำหนดต้องใช้เงินทั้งนั้น แต่ไม่ส่งเงินงบประมาณมาให้กับครอบครัวและผู้เรียนทำให้มีความยากลำบากยิ่งขึ้น นี่คือปัญหา วันนี้ตนจึงมารับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และทุกท่านในที่นี้ที่ส่วนใหญ่สามีต้องขังอยู่ในเรือนจำ จึงต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ด้วย ทราบว่ามีความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะในส่วนของพรรคประชาชาติเราต้องเอาปัญหาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนไปพูดในระดับประเทศ จะต้องเป็นตัวแทนเพื่อจะนำมาสู่การแก้ปัญหาต่อไปครับ ต้องขอบคุณทุกท่านที่จัดโครงการกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนในวันนี้ ที่เป็นกิจกรรมช่วยเด็กกำพร้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงท้ายของการจัดงาน มีการเปิดเวทีรับฟังปัญหาของกลุ่มสตรี ในประเด็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ปัญหาของสามีที่ไม่ได้รับการประกันตัวอยู่ในเรือนจำ ปัญหาการเยี่ยมผู้ต้องขังที่ต้องมีค่าใช้จ่ายจากเงื่อนไขที่กำหนดในการตรวจโรคต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งที่ฐานะยากไร้ ปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมได้ยาก และปัญหาขาดการส่งเสริมอาชีพ.