เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งถือเป็นกฎหมายใหม่ สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ แล้วถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสากล การหมั้นหรือสมรสในเพศเดียวกัน กระทบต่อกฎหมายเดิมในหลายฉบับ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้มีอุปสรรคต่อกัน เพราะความเป็นครอบครัวส่งผลผูกพันในหลายเรื่อง เช่น มรดกทรัพย์สินความเป็นทายาท รวมไปถึงบุตรบุญธรรมและการอุ้มบุญ ตลอดจนมิติของสังคม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมศึกษาเรื่องนี้ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้แทนศาสนาจากทุกศาสนา เพื่อปิดทุกจุดอ่อนให้เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคม และเป็นสากลอย่างแท้จริง จึงเกิดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.แล้ว และจะนำเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาต่อไป

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ครม.ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในทันทีเพื่อประกบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลักทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการแก้ไขและรับฟังความคิดเห็นจากแต่ละศาสนา ทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม รวมถึงมีการปรับแก้ไข โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำว่า ไม่สมควรที่จะไปใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะในนั้นพูดถึงชายกับหญิง แต่ฝ่ายค้านต้องการให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ เช่น ชายกับชาย หญิงกับหญิง แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าถ้าเราจะมีระบบที่ไม่ปกตินัก จะต้องแยกเป็น พ.ร.บ.ต่างหากเพื่อให้มีความละเอียดมากขึ้น

เพราะในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะไม่มีการแยกเพศ เนื่องจากจะระบุเรื่องระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิงอีกทั้งในร่าง พ.ร.บ.นี้ระบุด้วยว่าไม่ว่าเพศอะไร ทั้งคู่ต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป รวมถึงบิดาและมารดาต้องให้ความยินยอมกรณีผู้เยาว์อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความเห็นจากฝ่ายศาสนาไม่มีใครขัดข้อง แต่กรณีของศาสนาคริสต์ขอไม่ให้ใช้คำว่า “คู่สมรส” แต่ขอให้ใช้คำว่า “คู่ชีวิต” แทน

เมื่อถามว่าในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะให้สิทธิแก่บุคคลสามารถตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลของคู่ชีวิตด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่ถ้าไม่มี สามารถแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ ทุกอย่างแก้ปัญหาได้หมดแล้ว ซึ่งเข้าสภาใน 1-2 วันนี้ แต่จะคลอดเสร็จออกมาทันรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น แล้วแต่สภา เพราะร่างกฎหมายนี้ต้องเข้าทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและชั้นวุฒิสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่าในร่าง พ.ร.บ.นี้มีกำหนดเรื่องสิทธิและสวัสดิการของข้าราชการ ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่ามีให้สิทธิทุกอย่างซึ่งในส่วนที่แตกต่างกันมีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก แต่หัวข้อใดที่เป็นสิทธิ เราใส่ไว้ให้ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในบางอย่าง อาทิเรื่องแบ่งสินสมรสหลังการหย่า มีหลักเกณฑ์ของเขาอยู่ ซึ่งได้เขียนไว้ให้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างแต่หลักเกณฑ์อาจไม่เหมือนกับกรณีชายกับหญิง 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการจดทะเบียนสมรสและการจดทะเบียนหย่า ต้องทำที่ที่ว่าการอำเภอเหมือนกันหมด ซึ่งถ้ามีการหย่าเกิดขึ้นในส่วนนี้ต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าถ้าคนต่างเพศ เช่น ชาย-หญิงแต่งงานกัน แล้วฝ่ายใดไปมีคู่ชีวิตใหม่ ก็ให้เป็นเหตุหย่าได้ ซึ่งประมวลแพ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นอีกฉบับหนึ่งที่รัฐบาลจะเสนอและเข้าสภาพร้อม ดังนั้นรัฐบาลส่งร่างกฎหมายเป็น 2 ฉบับ ไปเจอกับร่างของฝ่ายค้านก่อนจะนำไปพิจารณาพร้อมกัน

เมื่อถามว่าคิดว่าจะสามารถตอบโจทย์กลุ่มที่ร้องอยู่ในตอนนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ครบ เพราะการเรียกร้องมีนัยที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่คือเหตุผลให้นำกลับมาแก้ไขใหม่ มิฉะนั้นคงจะเสนอเข้าสภาฯเสร็จไปตั้งแต่ปี 2563.