เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายวีระ สมความคิด ประธานยุทธศาสตร์แผนงานต้านคอร์รัปชัน พรรคเสรีรวมไทย เข้ายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ผ่านนายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กับพวกกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ปล่อยให้มีการบุกรุกครอบครองที่ ส.ป.ก.ในอ.วังน้ำเขียว จำนวนหลายร้อยไร่ และก่อสร้างรีสอร์ทขนาดใหญ่บนภูเขาทั้งลูก

นายวีระ กล่าวว่ามีข้าราชการใน อ.วังน้ำเขียว ส่งเรื่องร้องเรียนมาให้ตนตรวจสอบว่ามีนักการเมืองพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลคนหนึ่ง ไปบุกรุกที่ติดแปลง ส.ป.ก. และมีการก่อสร้างรีสอร์ทบนยอดเขาแห่งหนึ่งใน อ.วังน้ำเขียว เนื้อที่ 600 ไร่ ได้ภูเขาทั้งลูก ทั้งที่ตามกฎหมายของ ส.ป.ก. ครอบครัวหนึ่งจะได้รับการจัดสรรได้ไม่เกิน 50 ไร่ แต่ครอบครัวนักการเมืองรายนี้ได้ถึง 600 ไร่ ไม่ตรงกับคุณสมบัติการเป็นเกษตรกรผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกิน ที่มีสิทธิจะได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเรื่องดังกล่าว ส.ป.ก.มีการเข้าไปตรวจสอบในปี 54 แต่ทุกวันนี้ยังมีการปล่อยให้เขาทำประโยชน์ ทำธุรกิจในพื้นที่มากว่า 10 ปี โดยไม่มีการทำอะไร ไม่มีการรื้อถอนรีสอร์ทเอาที่ดินคืน ส.ป.ก. จนทำให้ข้าราชการในพื้นที่ทนไม่ไหวต้องส่งเรื่องมาร้องเรียนตน ทั้งนี้เจ้าของรีสอร์ตเป็นคนที่ใครๆก็รู้กันในพื้นที่ และรีสอร์ทดังกล่าวเคยใช้เป็นที่ประชุมพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง สมัยก่อนเคยอยู่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ปัจจุบันมีการย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่ง ยังวนเวียนอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล หากไม่มีอิทธิพลทางการเมืองคงอยู่ไม่ได้จนถึงขนาดนี้

นอกจากนี้ นายวีระยังยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ผ่านนายพิศิษฐ์เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายหนึ่ง จากกรณีเดินออกจากห้องประชุมในวาระสำคัญการประชุมให้ใบส้ม นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 โดยบันทึกให้เหตุผลว่าติดภารกิจ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมหรือไม่ เนื่องจากตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 มาตรา 18 ระบุว่า การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าจงใจฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ดังนั้นจะทิ้งการประชุมไปดื้อๆไม่ได้ ถ้าไม่อยากเข้าประชุมก็ควรลาออกไป ไม่ใช่ลาประชุมโดยเหตุผลฟังไม่ขึ้น

หลังจากนี้ต้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าการกระทำของ กกต.รายดังกล่าว เป็นการทำผิดจริยธรรมจริงหรือไม่ หากผิดจริง ป.ป.ช.จะต้องยื่นศาลฎีกา เพื่อสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง