เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ประชุมหารือความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการสานพลังเคานท์ดาวน์ PM 2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัด กทม. นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมคณะ และผู้ที่เกี่ยวข้อง

นายชัชชาติ กล่าวว่า ทางมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก สสส. จะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องฝุ่น PM 2.5 เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่ง เรื่องฝุ่น PM กทม.ก็ได้ดำเนินการหลายเรื่องหลักๆ มี 4 ด้าน

1.กำจัดต้นตอฝุ่น PM 2.5 จะมีการตั้งนักสืบฝุ่น PM 2.5 โดยจะร่วมกับมหาวิทยาลัยวิเคราะห์ที่มาฝุ่นของกรุงเทพฯ เพื่อมีข้อมูลระยะยาวในการแก้ปัญหา ลดผลกระทบ รวมถึงกำจัดต้นตอจากรถที่ใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีรถเก่าอยู่จำนวนมากถ้าต้องซื้อรถใหม่อาจแพง อาจดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าได้โดยทางโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.จะช่วยสอน ซี่งเรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งในการประชุมหารือด้วย รวมถึงดูต้นตอโรงงานที่ปล่อยควันพิษ ต้องมีการมอนิเตอร์ และนำข้อมูลมาเปิดเผยมากขึ้น

2.บรรเทาเหตุที่เกิด พยายามทำให้จุดที่มีฝุ่น PM 2.5 ให้ลดต่ำลงให้ได้ โดยการให้ใช้รถสาธารณะ จำกัดการใช้รถยนต์ และปลูกต้นไม้โครงการ 1 ล้านต้น จะช่วยบรรเทาฝุ่น

3.ป้องกัน ต้องมีการแจกอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากกันฝุ่น และเครื่องกรองอากาศให้กับกลุ่มเปราะบาง ทำพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์สาธารณสุข

4.การคาดการณ์และแจ้งเหตุ เพิ่มเครือข่ายศูนย์แจ้งเหตุปัจจุบัน กทม.มี 50 จุด จะร่วมกับเอกชน มหาวิทยาลัย เพิ่มอย่างน้อยเป็น 1,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ เพื่อพยากรณ์ฝุ่นให้แม่นยำขึ้น เป็นการเตือนภัยให้ประชาชนป้องกันตัวเองได้

นายชัชชาติ กล่าวย้ำว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ สืบเนื่องจากการหาเสียง ที่ประชาชนสั่งให้ทำ ผมเชื่อว่ามี 2 องค์ประกอบ ฮาร์ดพาวเวอร์ กฎหมายต้องเข้มข้น และ ซอฟพาวเวอร์ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ใช้มาตรการทางการตลาด มาตรการทางสังคม พลังของประชาชนจะเป็นแรงกดดัน ช่วยทำให้ลดการใช้ การปล่อย PM 2.5 ลงได้ ฝุ่นเป็นปัญหาที่จะมาเป็นฤดูกาล ช่วงพฤศจิกายน-มีนาคม การแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่มีผลกับสุขภาพในระยะยาว จึงต้องมีการวางแผนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

สำหรับโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM 2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เป็นโครงการของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. โครงการนี้ทีมมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ (Implementer) ที่จะทำกิจกรรมลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยตรง แต่เป็นทีมผู้ออกแบบและจัดกระบวนการ (Facilitator) ในการจัดกระบวนการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาร่วมกันสร้างโครงการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

วัตถุประสงค์โครงการ 1. สร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มเจ้าภาพหลัก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาครัฐ (หน่วยงานเจ้าของเรื่องและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ สื่อมวลชน และเยาวชน

2.ให้มีเป้าหมายการทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้เกิดจุดคานวัดในการดำเนินงานที่สามารถเปลี่ยนหรือพลิกสถานการณ์ของปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

3.สร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารสาธารณะ เพิ่มการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรเป้าหมาย (Target Population) โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองและเยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นตัวและตื่นรู้ (Active Citizen).