เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ห้องคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ รร.เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลกประจำปี 2565 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจาก 52 ประเทศ โอกาสนี้ นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายผู้นำสตรีของประเทศไทย ร่วมในพิธีดังกล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ผู้หญิงมีบทบาทหลายบทบาท อันได้แก่ 1.เป็นภรรยาของสามี 2.เป็นแม่ของลูก 3.เป็นผู้ประกอบการหารายได้ให้กับครอบครัว 4.เป็นผู้สร้างความรักความผูกพันและความอบอุ่นในบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ผ่านวิกฤตด้านต่างๆ พร้อมกันทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเราร่วมกัน เราก็จะก้าวข้ามไปได้อย่างดี และวันนี้จะเป็นการเริ่มต้นในการไปมาหาสู่กันเพื่อสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะได้รับประสบการณ์ดีๆ จากบรรดาสุดยอดผู้นำสตรีทั่วโลก พร้อมชื่นชมการจัดงานแบบรักษ์โลกที่มีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในการประชุม สอดคล้องตามหลักการของไทยซึ่งแสดงได้ว่าไทยพร้อมเดินหน้าร่วมรับผิดชอบต่อโลกใบเดียวนี้ไปพร้อมกับทุกคน เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงสำคัญ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ริเริ่ม เดินหน้า และดำเนินการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ การสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงศักยภาพของตนเอง รวมถึงการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสตรี เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ทุกกลุ่มทุกวัยโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้สังคมตระหนักว่า ความเสมอภาคเป็นเป้าหมายที่สังคมต้องการ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สตรีมีบทบาทในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในฐานะผู้บริโภคและในฐานะผู้ผลิต โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผู้หญิงกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยหนึ่งในตัวอย่างเป็นรูปธรรม คือ “รัฐบาลไทยเชื่อมั่นในศักยภาพผู้หญิง ด้วยการจัดสรรงบประมาณในการให้ความรู้และพัฒนาช่องทางการตลาดในทุกพื้นที่ เพราะผู้หญิง คือ ผู้ดูแลครอบครัว และมีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ทั้งเสื้อผ้า อาหาร เครื่องดื่ม ข้าวของเครื่องใช้ และผ้าบาติก ที่มีความสวยงาม หลากหลาย ซึ่งมี “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ที่มีความก้าวหน้าและดอกเบี้ยต่ำ คิดเพียง 0.1% ต่อปี พร้อมทั้งชื่นชมว่า สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทุกคนมีวินัยทางการเงิน เพราะมีอัตราการผิดนัดชำระน้อยมากและน้อยกว่าผู้ชาย”

ด้านนางวันดี กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำในการสร้างโอกาสให้สตรี เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทางด้านเศรษฐกิจให้แก่สตรีและองค์กรสตรี เพื่อการส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีนำไปสู่การสร้างสวัสดิภาพหรือสวัสดิการเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของสตรีและผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งปัจจุบัน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและสตรีไทยทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ทั่วประเทศ14,762,717 คน และองค์กรสตรี 67,014 องค์กร ให้ได้มีแหล่งทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ส่งผลให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และประการสำคัญ คือ สมาชิกทุกคนได้มีการสร้างวินัยทางการเงิน ช่วยกันปรับโครงสร้างหนี้เสีย ทำให้จากในปี 2562 มีหนี้ค้างชำระร้อยละ 53 สามารถลดมูลหนี้โดยในปี 2565 มีหนี้ค้างชำระร้อยละ 17.17 และจากการประชุมสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตามโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างโอกาสด้านอาชีพ สร้างสรรค์บทบาทสตรี สู่ความเข้มแข็งของชุมชน เมื่อวันที่11 มิ.ย. 2565 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี คณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจากทั่วประเทศ ได้มีสัญญาประชาคมร่วมกันที่จะทำให้หนี้ค้างชำระลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ในปี 2566

ขณะที่นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก ประจำปี 2565 ในครั้งนี้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมสนับสนุนการจัดงานด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการผ้าไทยที่มีแรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นจากการส่งเสริมบทบาทของสตรี ได้แก่ 1.ร้าน “ขวัญตา” Khwanta จ.หนองบัวลำภู มีที่มาจากความตั้งอกตั้งใจและความใฝ่ฝันที่ปรารถนาในการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยของจังหวัดหนองบัวลำภูต่อจากคุณยายและคุณแม่ โดย “น้องอ๋อย สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ” ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรัก ความหลงใหลในภูมิปัญญาผ้าไทย นำผ้าทอกับเทคนิคการด้นมือ มาประยุกต์เข้ากับดีไซน์ยุคใหม่ได้อย่างลงตัวกลายเป็นแฟชั่นร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างจุดต่างโดนใจลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องสตรีในจังหวัดหนองบัวลำภู และ 2.ร้านผ้าไหมสมเด็จ โดยคุณอี๊ด-อดุลย์ มุลละชาติ ผู้ริเริ่มผ้าทอแบรนด์ ‘ผ้าไหมสมเด็จ’ (SILKSOMDET) ที่ตั้งใจให้ผู้สูงวัยในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำแบบไม่จำกัดอายุและความสามารถ แนวคิดการดำเนินธุรกิจ โดดเด่นแต่ไม่ลืมรากเหง้า’ ของเขาไม่เพียงช่วยต่อลมหายใจให้คนเก่าแก่ยังสามารถประกอบอาชีพนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิแต่ยังทำให้ผ้าไหมทอมือแห่งบ้านสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่รู้จักมากขึ้น และ 3.ร้าน “ธัญญมณี” โดยคุณสุภาพร นิยมกิจ ซึ่งมีจุดเด่นของร้าน คือ มีวัตถุดิบพลอยไทยแท้โบราณ ซึ่งปัจจุบันในท้องตลาดทั่วไปหาซื้อไม่ได้แล้ว เก็บไว้จำนวนมาก แม้จะเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆแต่แนวทางการตลาดของร้านจิวเวลรี่นี้ยึดคอนเซ็ปท์ “สินค้าชิ้นเดียวในโลก” เครื่องประดับแต่ละแบบจะมีเพียง 1 ชิ้นเท่านั้น ช่วยให้ลูกค้าที่ได้ไปครองเกิดความภาคภูมิใจ และยังได้รับคัดสรรเป็นโอทอป 4 ดาว ระดับประเทศอีกด้วย

“กระทรวงมหาดไทย มีความมุ่งมั่นในการ สืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระดำริ’โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก’ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบการภูมิปัญญาผ้าไทยให้มีทักษะการทอผ้าที่ทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ใส่ได้ทุกโอกาส รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาและฝีไม้ลายมือของคนไทยอย่างต่อเนื่อง อันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว.