เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นำเจ้าหน้าที่ ขร. และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทาง และการขนส่งของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

นายพิเชฐ กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ มีความคืบหน้าประมาณ 12% ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม 3 สัญญา โดยช่วงที่ผ่านมาโครงการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้าจากแผน

แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ เริ่มคลี่คลายแล้ว และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งงานในส่วนที่ค่อนข้างยากได้ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้จะทำให้การก่อสร้างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในสิ้นปี 65 คาดว่างานก่อสร้างจะมีความคืบหน้าถึง 20% และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งทดสอบเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 69 เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการประชาชนต้นปี 70 ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้ติดตามการดำเนินงาน 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย โดยทั้ง 3 สัญญา ผู้รับจ้างยังคงรอเข้าพื้นที่ก่อสร้างในส่วนของพื้นที่เวนคืน ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชน และชาวบ้าน

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินจะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการฯ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ในขณะที่รอการประกาศบังคับใช้กฎหมายนั้น ผู้รับจ้างได้เร่งงานก่อสร้างในส่วนของพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า สำหรับสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มีความคืบหน้า 92.5% อยู่ระหว่างเตรียมติดตั้งช่วงสะพานสุดท้าย (Last Span) ของทางยกระดับ คาดว่าสัญญานี้จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.65 จะถือเป็นสัญญาที่ 2 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ หลังจากที่ก่อนหน้านี้แล้วเสร็จไป 1 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ส่วนสัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.4 กม. คืบหน้า 27.78% รอเข้าพื้นที่เวนคืนประมาณ 10 กม. คาดว่าสัญญานี้จะแล้วเสร็จ ม.ค.67 และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้าประมาณ 23% รอเข้าพื้นที่เวนคืนบริเวณสถานีสระบุรี ประมาณ 86 ไร่ คาดว่าสัญญานี้จะแล้วเสร็จปลายปี 67

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามสำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างอีก 11 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนสัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 1.21%, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. คืบหน้า 7.08%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า 2.26%, สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.04%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 1.88%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง และสัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.06%

ขณะที่อีก 3 สัญญา ยังรอลงนามสัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กม., สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.