เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่คลองส่งน้ำสายใหญ่คลองเพรียว ต.ปากเพรียว อ.เมืองสระบุรี จ.สระบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานเปิดใช้งานคลองส่งน้ำคลองเพรียวสายใหญ่ “การพัฒนาฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำเพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำของ จ.สระบุรี” โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสระบุรี นายสมภพ สมิตะสิริ นางอังคณา ชิตะติตติ นายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ จ.สระบุรี ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ รับฟังบรรยายสรุปจากโครงการชลประทานสระบุรี ทำพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองเพรียว ร่วมกับนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และเดินเยี่ยมชมการปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองเพรียว ระยะทาง1.646 กิโลเมตร พร้อมทั้งเยี่ยมเยียนให้กำลังพี่น้องประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยบริเวณริมคลองส่งน้ำ และได้ให้แวะเยี่ยมเยียนชื่นชมและให้กำลังใจ ด.ช.อศวพล ชัยดิษฐ์ นักเรียนชั้น ม.1 รร.เทศบาล 1 (วัดทองพุ่มพวง) เทศบาลเมืองสระบุรี ที่เป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนนักเรียนในการชวนให้พ่อและแม่จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และปลูกผักสวนครัว ภายในบริเวณสวนหน้าบ้าน ซึ่งได้เล่าถึงความตั้งใจในการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อให้เป็นที่กักเก็บเศษอาหาร เพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ใช้บำรุงดินบริเวณแปลงปลูกผักสวนครัวและต้นไม้ภายในบ้าน

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ ร่วมปลูกต้นทองอุไร บริเวณริมคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองเพรียว และรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.สระบุรี ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี เทศบาลเมืองสระบุรี เทศบาลเมืองพระพุทธบาท เทศบาลเมืองทับกวาง พร้อมรับฟังการนำเสนอวิธีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยนักเรียน รร.เทศบาล 10 (อนุบาลเทศบาลเมืองสระบุรี) และเป็นสักขีพยานการรับมอบถังขยะเปียกลดโลกร้อนจากบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ให้แก่จ.สระบุรี พร้อมแจกต้นกล้าพันธุ์ผักสวนครัวให้แก่ประชาชนในบริเวณพื้นที่โดยรอบคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองเพรียว และร่วมปลูกต้นถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1 บริเวณแปลงผักสวนครัวเพื่อความมั่นคงทางอาหารริมฝั่งคลองส่งน้ำสายใหญ่คลองเพรียว ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำ คูคลอง เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2565 เป็นโครงการที่มีเป้าหมายให้ทุกจังหวัดคัดเลือกลำน้ำคูคลอง จังหวัดละ 1 สาย เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำ คู คลอง ในแหล่งน้ำกลับมาใสสะอาด และปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบให้เหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างความสวยงามโดยรอบพื้นที่ และเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน อันถือเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในการแก้ไขในสิ่งผิด กล่าวคือ ในอดีตลำน้ำคูคลองสายต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความสวยงาม แต่เมื่อพวกเราได้เข้ามาอยู่อาศัย เข้ามาท่องเที่ยว เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งรวมของความสกปรก เป็นแหล่งรวมของความไม่สวยงาม เป็นแหล่งรวมของสิ่งปฏิกูลต่างๆ ส่งผลให้น้ำที่เคยใสสะอาดกลายเป็นน้ำเน่าเสีย โดยพวกเราทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขในสิ่งผิดด้วยการร่วมกันออกความคิด ช่วยกันพัฒนา ช่วยกันคืนความสวยงามและความสะอาดให้กับลำน้ำคูคลอง ทั้งการกำจัดสิ่งปฏิกูลการผลักดันน้ำเน่าเสีย การสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น รวมถึงการน้อมนำทฤษฎีใหม่ “อธรรมปราบอธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระบรมนาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น และขอให้จังหวัดสระบุรี ได้พิจารณาระดมกับพระกำลังภาคีเครือข่ายในการพัฒนาต่อยอดบริเวณคลองส่งน้ำคลองเพรียว ด้วยการจัดทำฝายน้ำล้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในหน้าแล้งและหน้าน้ำมาก รวมทั้งสร้างความสวยงามเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและที่ท่องเที่ยวของประชาชนในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย มุ่งส่งเสริมให้ข้าราชการเป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทย เพราะการสวมใส่ผ้าไทยนอกจากเป็นเครื่องแต่งกายสวยงามแล้ว ยังช่วยรักษาภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษรักษาไว้ อย่างที่ จ.สระบุรี คือ “ผ้าเสาไห้” ซึ่งหากข้าราชการไม่ส่งเสริมด้วยการเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ต่อไปวิชาการทอผ้าไทยก็จะหายไป และประการสำคัญที่สุด เป็นการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกล ทรงห่วงใยประชาชนคนทอผ้าในชนบทที่ได้รับการสนองพระราชดำริด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งได้พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อพัฒนาศักยภาพและฝีมือของช่างทอผ้า รวมถึงช่างตัดผ้า ให้ทอผ้าและตัดชุดเสื้อผ้าจากผ้าไทย ให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของตลาด เข้ากับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส เพื่อยังผลให้พี่น้องชาวนาได้ใช้เวลาว่างในการทอผ้า เพื่อมีรายได้เสริม เพราะพี่น้องชาวนา ปีไหนน้ำดีข้าวถูกปีไหนน้ำไม่ดี ข้าวแพง คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี ดังนั้น เงินทุกบาทที่ซื้อผ้าไทย จะช่วยให้หลายชีวิตมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นแรงกระตุ้นทำให้พี่น้องในชุมชนอยากทอผ้าขาย ซึ่งการทอผ้านั้นให้อะไรมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม เป็นการให้น้ำใจไปสู่ชนบท สู่พี่น้องคนไทย ให้เขามีเงินส่งลูกเรียนสร้างบ้านซ่อมบ้าน ให้ลูกหลานมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนได้ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยทุกวัน

“ขอให้ข้าราชการในพื้นที่เป็นกำลังหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการ “พัฒนาคน” ให้คนไปพัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัว พัฒนาสังคม และพัฒนาพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน ให้เกิดความยั่งยืนในด้านต่างๆสอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 หมุดหมายของสหประชาชาติ ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับผู้ประสานงานสหประชาชาติ อันจะเป็นการ Change for good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สระบุรี อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ขอให้ จ.สระบุรี ได้เชิญชวนและกระตุ้นปลุกเร้าภาคีเครือข่าย น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามพระราชดำริ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้านพักอาคารสถานที่ราชการ รวมถึงพื้นที่สาธารณะภายในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างให้พี่น้องประชาชนได้ปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนของตนเอง เพื่อเป็นแหล่งอาหารประทังชีวิต เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา สร้างแหล่งยาสมุนไพรรักษาโรค มีกิน มีใช้ ด้วยความรัก ด้วยการพึ่งพาตนเอง ด้วยการแบ่งปัน รวมถึงสร้างกระบวนการกลุ่มที่มีจิตอาสาขึ้นในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ให้ได้ช่วยเหลือดูแลกันและกันอย่างยั่งยืน.