เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับผลการลงมติในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 23 แก้ไขมาตรา 128 เกี่ยวกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้ 100 หาร หรือ 500 หาร ปรากฏภาพรวมที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างมาก ที่ให้ใช้สูตร 100 หาร ด้วยคะแนน 392 ต่อ 160 งดออกเสียง 23 ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง ทั้งนี้จากการตรวจสอบการลงมติพบว่าภาพรวม “ส.ส.งูเห่า” ยังคงทำงานเป็นปกติ โดยพรรคเพื่อไทยพบว่าเสียงส่วนใหญ่ลงมติเห็นด้วยกับ 100 หาร และงูเห่ายังคงเป็นหน้าเดิม 7 คน อาทิ ส.ส.ศรีสะเกษ 3 คน ที่จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก

ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไม่ได้ร่วมโหวตมี 13 คน อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. เป็นต้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งนายจิรายุ และนายขจิตร ซึ่งเป็นผู้ลุกขึ้นอภิปรายเป็นระยะๆ แต่ไม่พบว่าลงมติโหวตแต่อย่างใด

ขณะที่พรรคก้าวไกลลงมติไม่เห็นกับ 100 หารที่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่เสนอ 47 คน เพื่อจะได้ไปลงมติในรอบที่สอง ที่ต้องโหวตว่าจะใช้สูตร 500 หาร ของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ หรือจะใช้สูตร 100 หาร ของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งในรอบดังกล่าวเสียงส่วนใหญ่ของพรรคก้าวไกลโหวตให้กับนายปกรณ์วุฒิ แต่ที่สุดที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตาม นพ.ระวี ที่เสนอให้ใช้สูตร 500 หาร ซึ่งจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้โหวตไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน เนื่องจาการโหวตในรอบแรกพรรคเพื่อไทยโหวตยืนตาม กมธ.เสียงข้างมากที่เสนอให้ใช้สูตร 100 หาร

อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคเพื่อชาติ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ หัวหน้าพรรค ที่โหวตงดออกเสียง และในรอบสองไม่ยอมลงมติ ส่วนลูกพรรคคนอื่นๆ ปฏิบัติตามมติวิปฝ่ายค้าน

ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นไปมติวิปพรรค โหวตไม่แตกแถว เห็นชอบตาม กมธ.เสียงข้างน้อยที่เสนอให้ใช้ 500 หาร มีเพียง 3 คน ไม่ยอมลงมติ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เป็นพรรคเจ้าของแนวคิดสูตร 100 หาร กลับมี ส.ส. เพียง 11 คนเท่านั้นที่เห็นด้วยกับสูตรดังกล่าว อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และประธานวิปพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี นายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมีนายสมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่ในรอบแรกโหวตเห็นด้วยกับสูตร 100 หาร แต่ในรอบที่สองกลับโหวตเห็นด้วยกับสูตร 500 หาร

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ได้รับสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ลงมติสูตร 500 หาร นั้นพบว่าภาพรวมเป็นไปตามใบสั่ง แต่มีเพียง 2 คน คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี ที่ลงมติเห็นด้วยกับสูตร 100 หาร แต่การโหวตในรอบที่สอง ปรากฏว่า นายไพบูลย์ไม่ยอมโหวต ขณะที่ นายกฤษณ์ โหวตสูตร 500 หารของ นพ.ระวี ทั้งนี้มี 30 ส.ส.ไม่ยอมร่วมโหวต และในการโหวตรอบที่สองหาย 32 คน

ทางด้านพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) เสียงกระจัดกระจายมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่มี 5 คน ที่ไม่ร่วมโหวต อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา หัวหน้าพรรค นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรค เป็นต้น ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) มีเพียงนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขานุการ กมธ.ที่โหวตสนับสนุน 100 หาร และมี 6 ส.ส. ไม่เข้าร่วมโหวต อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

สำหรับเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ 500 หาร มีเพียง 7 คน ที่เห็นชอบกับ 100 หาร เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวันชัย สอนศิริ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ขณะที่มี ส.ว.ไม่ร่วมโหวต 73 คน โดยมีชื่อของ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ