จากกระแสข่าวแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาลชุดใหม่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ล่าสุดอาจเป็นรูปแบบ e-Money (อี-มันนี่) คาดใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง และนำไปใช้กับร้านค้าที่รับเงินด้วยแอปถุงเงิน โดยร้านค้าไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ แต่ให้ใช้จ่ายซื้อสินค้าและวัตถุดิบต่อ เพื่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจตามที่พรรคเพื่อไทยคาดหวัง

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น กระแสข่าวระบุอาจดึงเงินจากธนาคารของรัฐมาใช้ ก่อนจะตั้งงบชดเชยคืนให้ในภายหลัง ซึ่งมีกรอบวงเงินที่ใช้ได้ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต้องไม่เกิน 32% ของงบประมาณ โดยคาดว่าอาจต้องขยายกรอบวงเงินตรงนี้ออกไปด้วย

มาทำความรู้จัก เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) หรือเรียกว่า อี-มันนี่ คือ เครื่องมือด้านการชำระเงินผ่านการเติมเงินหรือโอนเงินเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-Wallet เช่น e-Wallet แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ

อี-มันนี่ (e-Money) ทำอะไรได้บ้าง?
1.จ่ายค่าสินค้าและบริการ
2.จ่ายบิล จ่ายค่าน้ำ จ่ายค่าไฟ
3.ผูกกับบัตรเดบิต/บัตรเครดิต/บัญชีธนาคารได้
4.เติมเงินโทรศัพท์มือถือ เกม อินเทอร์เน็ต
5.โอนเงินระหว่าง e-Wallet ของผู้ให้บริการเดียวกัน

การใช้งาน e-Wallet หรืออีมันนี่ จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการลงบนสมาร์ตโฟน จากนั้นจะต้องลงทะเบียน และยืนยันตัวตนก่อนจึงจะสามารถทำธุรกรรมต่างๆ บน e-Wallet ได้

ข้อดีของการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) ดียังไง?
1.ไม่ต้องพกเงินสด
2.เหมาะกับการใช้จ่ายประจำวัน
3.มีสิทธิประโยชน์ เช่น ส่วนลด เงินคืน
4.ช่วยให้ใช้เงินตามแผนที่วางไว้ แค่เติมเงินเท่าที่ต้องใช้

ข้อควรระวังในการใช้เงินอี-มันนี่ (e-Money) ความปลอดภัยในการใช้แอป e-Wallet
1.ไม่คลิกลิงก์ ไม่ดาวน์โหลดไฟล์และแอปจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
2.เก็บข้อมูลส่วนตัว รหัสผ่าน/OTP เป็นความลับ ห้ามบอกใคร
3.หมั่นอัปเดตซอฟต์แวร์ของโทรศัพท์เป็นประจำ
4.หลีกเลี่ยงการทำ Jailbreak/root โทรศัพท์

คำแนะนำ หากทำโทรศัพท์ที่มี e-Wallet หรืออี-มันนี่หาย ให้รีบแจ้งผู้ให้บริการทันที เพื่อป้องกันความเสียหายมูลค่าของเงิน.

(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย, ประชาชาติธุรกิจ ณ 6 ก.ย. 66)