ที่อาคารธานีนพรัตน์ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เชิญผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชุมเตรียมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า เท่าที่ทราบข้อมูลเป็นการเชิญนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. เข้าร่วมประชุมและได้มอบหมายให้ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม.เข้าร่วมประชุมแทน ข้อมูลที่ทางปลัด สธ.ให้นั้นเราไม่มีข้อมูล โดยจะให้ตรวจสอบดูอีกครั้งหากมีการเชิญ และมีเวลาว่างก็จะไป แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นหนังสือเชิญ

ส่วนประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ ให้ “ลด ละ เลิก กิจกรรมกลางแจ้ง” นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวคุยกัน ตอนนี้เราดูสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ รวมทั้งการตรวจ ATK ยังคงที่ แต่อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่ติดกันภายในครอบครัวและที่ทำงาน ยังไม่เห็นคลัสเตอร์จากการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน และ “กรุงเทพกลางแปลง” แต่เราเฝ้าระวังตลอด และ กทม.จะเร่งการฉีดบูสเตอร์โด๊สให้ประชาชน โดยจะขยายเวลาการฉีดวัคซีนแบบวอล์กอินที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จากวันศุกร์ เป็นวันเสาร์ พร้อมทั้งตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เชิงรุก และฉีดบูสเตอร์โด๊สเชิงรุกในชุมชนมากขึ้นด้วย 

อย่างไรก็ตาม ต้องดูในจุดที่เป็นปัญหา ขณะนี้ดูแล้วเตียงรักษาผู้ป่วยระดับเขียว เหลือง แดง ยังไม่มีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อมารับยา และกลับไปรักษาที่บ้าน ส่วนที่กังวลคือกลุ่มผู้ป่วย 608 จึงต้องกระตุ้นฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์โด๊ส และยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย

“กิจกรรมที่เสี่ยงมีหลายอัน ไม่ใช่แค่กิจกรรมกลางแจ้ง จึงต้องดูทั้งหมด เช่น ออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ต้องไปด้วยความระวัง แต่อย่าตระหนกเกิน หาก สธ.มีมาตรการอะไรเพิ่มเติมก็สามารถหารือร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา ต้องดูตามข้อเท็จจริง” นายชัชชาติ กล่าว

ขณะที่ พญ.วันทนีย์ กล่าวยอมรับว่า โควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่ระบาดในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจริง จากที่ดูสถิติใกล้ถึงจุดพีคแล้วจะลดลง ซึ่งใน กทม.แตกต่างจากพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะ กทม.ได้รับวัคซีนเยอะ โดยเฉพาะบูสเตอร์โด๊สเข็มที่ 3 ประชาชนได้รับวัคซีนแล้วกว่า 80% ส่วนยารักษาโควิด-19 วันก่อนลุ้นว่าจะพอหรือไม่ เนื่องจากมีเคสจำนวนมาก แต่ขณะนี้ได้รับยาเพิ่มขึ้นแล้ว วันนี้จะไปคุยกับกระทรวงสาธารณสุข หากกรุณา กทม.ในเรื่องนี้ กทม.จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความมั่นใจของประชาชน โดยปัจจุบัน กทม.ยังไม่สามารถสั่งยาเองได้ ต้องรับผ่านระบบ VMI ของกระทรวงสาธารณสุข 

สำหรับกิจกรรมดนตรีในสวน และ “กรุงเทพกลางแปลง” ที่ กทม.จัดก็ทำตามนโยบายของ ศบค.ชุดใหญ่ ที่อยากให้ผ่อนคลายมาตรการและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรม ประชาชนเริ่มมีความสุขขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องเข้มมาตรการโควิด-19 อยู่ ย้ำว่า ยังไม่เจอคลัสเตอร์ในกิจกรรมของ กทม.

ทางด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเชิญนายชัชชาติ ว่า ศปก.สธ.มีหน้าที่ดูแลควบคุมโรคทั้งประเทศ ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ในภูมิภาคค่อนข้างคงที่ แต่กรุงเทพฯ มีการติดเชื้อค่อนข้างสูง ทางทีมงานเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนจึงขออนญาตตนในช่วงวันหยุดยาว เรื่องการเชิญผู้ว่าฯ กทม. แต่มีการคุยกัน แล้วหนังสือเชิญก็ส่งตามทีหลัง ทั้งนี้เพื่อมาปรึกษาหารือว่าจะดูแล กทม.อย่างไร ทั้งเรื่องการควบคุมป้องกันโรค เรื่องวัคซีน ด้านการรักษาพยาบาล เพราะว่าพื้นที่ กทม.นั้น สธ.ไม่ได้มีโรงพยาบาลในสังกัดสธ.อยู่ แต่ในพื้นที่นี้จะดูแลโดย รพ.สังกัด กทม. รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน จึงต้องมาหารือกันเรื่องยา จะมีการกระจายยาจะต้องทำอย่างไร เพราะเราเห็นปัญหาอยู่บ้าง ไม่ใช่ว่ายาเราจะมีจำกัด จึงต้องมาคุยกันว่าจะกระจายยาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องมีการทบทวนเรื่องการดูแลคนไข้ต่างๆ  
 
ดังนั้น จึงเอาข้อตกลงใน EOC ให้กทม.รับทราบด้วย ซึ่งจริงๆ กทม.ก็ร่วมประชุมอยู่ แต่ถือโอกาสเป็นการทบทวนมาตรการด้วย ตลอดจนเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วยต่างๆ ว่าจะให้ สธ.ช่วยดำเนินการอะไรได้บ้าง เพราะสมัยก่อน การตั้ง รพ.บุษราคัม ขึ้นมาก็ต้องใช้เวลา ต้องมาพิจารณากันว่าจะเอาประมาณไหน กทม.มีแผนตั้งรับประมาณไหน จำเป็นต้องให้ สธ.ช่วยอะไรบ้าง ก็มาหารือกันเพื่อจะได้มาช่วยกันดูแลประชาชน เพราะตอนนี้เชื้อโอมิครอนไม่เหมือนสมัยเชื้อเดลตา ซึ่งโอมิครอนโรคนั้นโรคไม่รุนแรง เพียงแต่สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้นจะอยู่ระหว่างโอมิครอน กับเดลตา ได้รับรายงานว่าแรงขึ้นเล็กน้อย จึงต้องมาหารือ คำนวณเตียงว่าเพียงพอหรือไม่ จะบริหารจัดการอย่างไร  
 
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การรายงานผลโควิดนั้นได้มีการบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าจากนี้การรายงานจะเน้นผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้า รักษาใน รพ. และผู้เสียชีวิต ซึ่งบางคนที่ตรวจแล้วติดเชื้อไม่มีอาการก็ดูแลตนเองที่บ้าน ไม่ได้เข้าระบบ บางคนเข้าระบบผู้ป่วยนอก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการหนัก ดังนั้นที่รายงานป่วยใหม่วันละ 2 พันราย มีหายป่วยออกมาไปประมาณ 2 พันรายเช่นกัน อาจดูขึ้นเล็กน้อย แต่ตัวเลขยังสมดุล เตียงก็มีการเตรียมให้พอเพียง