จากกรณีโลกออนไลน์แชร์เรื่องราวการทำงานของตำรวจจราจร ในพื้นที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ทำนองว่ามีการตั้งด่านมากถึง 5 จุด จับกุมผู้กระทำผิดกว่า 3,769 ราย ในรอบ 1 ปี โดยการจับกุมดังกล่าว ยังได้ให้คนของตัวเองมาประกันตัวผู้ต้องหาและข่มขู่นายประกันรายอื่นไม่ให้แย่งงาน อ้างเป็นเด็กผู้ใหญ่ทางการเมืองหาเงินวิ่งขึ้นตำแหน่ง โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกโพสต์ขึ้นในวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. พล.ต.ต.สถาพร เอมโอษฐ์ ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า การตั้งจุดตรวจทุกครั้ง เป็นไปตามคำสั่งของ ภ.จว.อุบลราชธานี ที่กำหนดจุดตรวจเพื่อกวดขันวินัยจราจร โดยพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หรือเป็นบริเวณที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก โดยถือปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวทางการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจและจุดสกัดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมีมาตรฐาน

สำหรับสถิติการจับกุมข้อหา “เมาแล้วขับ” จะแปรผกผันกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุ หากมีการจับกุมมาก สถิติการเกิดอุบัติเหตุก็จะลดลง ซึ่งพบว่าในปี 2564 มีการจับกุมทั้งสิ้น 2,261 ราย เฉลี่ยเดือนละ 376 ราย เกิดอุบัติเหตุ 663 ครั้ง เสียชีวิต 16 ราย และบาดเจ็บอีก 579 ราย ส่วนในขณะที่ปี 2565 ห้วงระยะเวลาเดียวกัน มีการจับกุมข้อหาเมาแล้วขับ 3,244 ราย เฉลี่ย 540 รายต่อเดือน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 443 ครั้ง (ลดลง 220 ครั้ง) เสียชีวิต 13 ราย (ลดลง 3 ราย) บาดเจ็บ 196 ราย (ลดลง 383 ราย) นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลุ่มเด็กแว้นที่เสียงดังรบกวนประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมถนนอยู่เป็นประจำอีกด้วย

พล.ต.ต.สถาพร กล่าวด้วยว่า กรณีการกล่าวพาดพิงตำรวจหาเงินวิ่งเต้นตำแหน่งนั้น ไม่น่ามีความเป็นไปได้ เพราะการเลื่อนตำแหน่งจะต้องทำตามหลักเกณฑ์การทำงาน อย่างเช่น ตำแหน่ง “สารวัตร” จะขึ้นเป็น “รองผู้กำกับ” ต้องดำรงตำแหน่งครบ 6 ปีถึงจะเป็นได้ ส่วนประเด็น “นายประกัน” หากมีหลักทรัพย์ประกันก็อำนวยความสะดวกให้ตามระเบียบอยู่แล้ว ถ้าหากใครไม่มีหลักทรัพย์ประกัน พนักงานสอบสวนก็ช่วยหาคนประกันให้

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งให้มีการตรวจสอบไปยังผู้ใช้เฟซบุ๊ก ที่เผยแพร่ข่าวกล่าวพาดพิงตำรวจในทางที่เสียหาย ซึ่งพบว่าเป็น “เฟซฯอวตาร” เอารูปบุคคลอื่นมาใช้ ทำให้ไม่สามารถติดตามตัวได้ในเวลานี้ แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงสั่งให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่ามีมูลความจริง ก็จะดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ แต่หากพบว่าเป็นการกลั่นแกล้งโดยปราศจากข้อเท็จจริง ก็ต้องติดตามตัวคนกล่าวพาดพิงให้ตำรวจเสียหายเช่นเดียวกัน

“…เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส จึงมีคำสั่งให้ สภ.เมืองอุบลราชธานี ระงับการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร และจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เป็นการชั่วคราวก่อน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.65 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง แต่ยังให้คงไว้ซึ่งการตั้งจุดตรวจยาเสพติด และจุดตรวจความมั่นคง ป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันการลักลอบการขนย้าย ยาเสพติด หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถร้องเรียนกับผมได้โดยตรง…” พล.ต.ต.สถาพร กล่าว