กลายเป็นสัตว์สงวนที่มีอยู่แทบทุกสถานที่ และมักจะพบเจอบ่อยในรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สำหรับตัวเงินตัวทอง ที่ชอบแอบแวะมาทักทายนิสิตนักศึกษา ให้ได้ตื่นตาตื่นใจกันอยู่บ้าง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่อยู่อาศัยของครอบครัวตัวเงินตัวทอง ไม่ว่าจะเดินไปตรงไหนก็มีแต่น้อน ๆ

ล่าสุด ทางมหาวิทยาลัยได้โพสต์วิธีการอยู่ร่วมกับเหล่า ‘ตัวเงินตัวทอง’ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ @Thammasat University โดยระบุรายละเอียดว่า “ตัวเงินตัวทอง” (หรือ “น้อง หรือ น้อน” ที่ชาว มธ.รังสิต จะรู้จักกันดี) เป็นสัตว์ที่ทุกคนอาจจะเคยเห็นกันบ่อย ๆ แต่ทุกคนจะรู้มั้ยว่าจริง ๆ แล้วตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ที่ช่วยรักษาระบบนิเวศ! และสื่อถึงระบบนิเวศที่ดี วันนี้ เราจะมาบอกเล่าวิธีปฏิบัติตัวเมื่อพบเจอ “น้อน” (ตัวเงินตัวทอง)

● เมื่อเจอแล้วอย่าไล่ หรือทำร้าย ชอบอาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ ว่ายน้ำเก่งและดำน้ำนาน อุปนิสัยเป็นสัตว์ที่หากินอย่างสงบตามลำพัง จะมารวมตัวกันก็ต่อเมื่อพบกับอาหาร และมีนิสัยตื่นคน เมื่อพบเจอมักจะวิ่งหนี

● ขับรถต้องระวังตัวน้อน 

● ห้ามให้อาหาร สาเหตุที่ห้ามให้อาหารเพราะว่าจะทำให้มีการเพิ่มจำนวนในบริเวณนั้น ๆ มากขึ้น

● ห้ามเอากลับบ้าน! ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามลำดับที่ 19 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ห้ามเลี้ยง ซื้อ ขาย หรือครอบครอง ต้องมีการขออนุญาตเพาะเลี้ยงจากกรมอุทยานฯ ก่อน ฝ่าฝืนมีความผิดมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฉะนั้นทุกคนถ้าทุกคนเจอ “น้อนตัวเงินตัวทอง” ทุกคนปล่อยให้น้องเดินผ่านไปตามนิสัยหรือสัญชาตญาณของน้อนได้เลย’

ขอบคุณข้อมูลและประกอบจาก Thammasat University