จากกรณี ภาครัฐและฝ่ายงานเกี่ยวข้องกำลังส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ อาคารพาณิชย์ บริเวณริมถนน ปากซอยสุขุมวิท 101/1 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ เขตพระโขนง หลังจากมีชาวบ้านแจ้งว่าอาคารดังกล่าว เริ่มเอียงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายห้องติดป้ายประกาศขาย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 75 ปี ชาวบ้านผู้พักอาศัยในตึกดังกล่าวว่า อยู่อาศัยที่ตึกแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2522 ครั้งแรกที่เข้ามาอยู่ก็เห็นว่าเอียงหน่อย ๆ แล้ว ข่าวที่ออกไปไม่ได้กระทบต่อชีวิตหรือหวาดกลัวแต่อย่างใด และไม่คิดจะย้ายไปไหนทั้งสิ้น ตัวอาคารมีการอาศัยทั้งชั้น 2 ชั้น 3 ชั้น 4 ยกเว้นชั้น 5 และไม่มีการแตกร้าวหรือร่องรอยผนังแตก มีเพียงพื้นเอียงตามการทรุดของอาคาร อย่างไรก็ตาม ตอนที่โครงการด้านหลังยังไม่ได้มาสร้าง ตัวอาคารของตนก็มีความเอียงหน่อยๆมาก่อนอยู่แล้ว อันนี้เราต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา

ด้าน นายบี (นามสมมุติ) อายุ 44 ปี บุตชายของนายเอ อาชีพสถาปนิกและผู้พักอาศัยในอาคารเดียวกัน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาตัวอาคารของตนและคุณพ่อมีการเอียงเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจากการระบายน้ำของตัวโครงการด้านหลัง โดยทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก น้ำจะผุดออกมาจากฟุตปาธอย่างรุนแรง ซึ่งทุกคนที่พักอาศัยอยู่ตามอาคารพาณิชย์แถวนี้ (คูหาเลขที่3081/1-2 จนถึง 3081/14) ไม่ได้วิตกกังวลในเรื่องของความเอียง แต่ห่วงเรื่องน้ำท่วมในอาคาร เบื้องต้นมีการตรวจสอบแผนผังระบบระบายน้ำแล้ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมโครงการถึงไม่จัดการเรื่องระบบระบายน้ำให้ครบวงจร อีกทั้งยังเคยยื่นเรื่องไปให้สำนักงานเขตพระโขนง สำนักการโยธา กทม. สำนักการระบายน้ำ กทม. และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่เรื่องก็เงียบหายไป มีเพียง EIA เท่านั้นที่ตอบกลับมาว่า ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ขณะเดียวกัน นายวิศศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนในหน่วยงานเกี่ยวกับ สำนักการโยธาสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เป็นต้น ได้เข้าตรวจสอบดูร่องรอยของคราบน้ำ ซึ่งทางนายเอ ได้ชี้ให้ดูว่า ภายในตัวอาคารยังไม่ได้มีรอยแตกร้าวแต่อย่างใด มีเพียงแค่เรื่องน้ำที่ท่วมในตัวอาคาร และที่ไปร้องเรียนก็แค่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไข ขอให้ตัวโครงการดังกล่าวระบายน้ำออกสู่คลองบางอ้อ แต่อยากให้ทาง กทม.ไปพูดคุยกันอย่างเข้าใจ เพราะพวกตนก็ยังต้องการอาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งทางรองผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนแล้ว เพื่อจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุดต่อไป

ด้าน นายวีรวิชญ์ ตรีประสิทธิผล หัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพระโขนง กล่าวยืนยันถึงความปลอดภัยว่า เบื้องต้นทางบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ได้มีการลงมาตรวจแล้วตั้งแต่ปี 2560 แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนักส่วนแนวทางในการแก้ไขต่อจากนี้ พบว่าการเคลื่อนตัวของอาคารค่อนข้างจะยุบไปแล้ว แต่ก็จะดูข้อมูลและตรวจสอบอีกครั้งว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง.