เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม LGBTQ+ ว่า จริงๆ การผ่าตัดแปลงเพศอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว ปีที่แล้วก็มีการออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 ก็ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ครอบคลุมหรือเบิกไม่ได้ ดังนั้น หากเป็นกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็ชัดเจนว่าสามารถทำและใช้สิทธิได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่า รพ. จะมีแต่การเบิกในเรื่องของการผ่าตัดแปลงเพศ กรณีเพศกำกวมแต่กำเนิด ประมาณ 100 กว่ารายต่อปี ส่วนกรณีผ่าตัดกลุ่ม LGBTQ+ เมื่อปี 2564 รพ.จุฬาลงกรณ์ เบิกมา 1 ราย

“เรื่องการแปลงเพศของกลุ่ม LGBTQ+ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของสิทธิประโยชน์ แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดคุยเป็นเรื่องเป็นราวว่าตรงไหนทำได้หรือไม่ได้อย่างไร และ รพ. ก็ไม่เคยทำ และเบิกเข้ามา สปสช. ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง จึงนัดภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องหารือทั้งแพ็กเกจเลย ตั้งแต่ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาฟื้นฟูครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่การใช้ฮอร์โมนจนถึงการแปลงเพศ ซึ่งฮอร์โมนบางตัวอาจจะไม่อยู่ในบัญชียาหลัก ก็ต้องไปดูรายละเอียด” นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ การใช้สิทธิต้องปรึกษาร่วมกับแพทย์ว่าเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือไม่ ซึ่งเรามีระบบให้รองรับการเบิกอยู่แล้ว ส่วนการผ่าตัดแปลงเพศที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะมองเหมือนเสริมสวย ขณะนี้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ กำลังทำคู่มือทำหัตถการที่ต้องทำออกมาเป็นแพ็กเกจ คาดว่าประมาณ 1-2 เดือน น่าจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ครอบคลุมเฉพาะสิทธิบัตรทอง