เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ เกี่ยวกับการควบคุมการใช้กัญชา มีรายละเอียดังนี้

(1) ฉบับแรก คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีสาระสำคัญที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการนำกัญชาหรือกัญชงมาทำอาหารเพื่อจำหน่าย โดยกรณีของอาหารประเภทปรุงสำเร็จที่มีการนำกัญชาหรือกัญชงมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ต้องแสดงข้อความหรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชาหรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ และแสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชาหรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด รวมถึงต้องแสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ โดยแสดงข้อความ ดังนี้ (ก) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน (ข) ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรงให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว (ค) ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน (ง) รับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

(2) ฉบับที่สองประกาศกรมอนามัย เรื่องกำหนดหัวข้อวิชาการใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย ในการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญที่เป็นการกำหนดให้การใช้กัญชาและกัญชงในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย เป็นหัวข้อวิชาหนึ่งในหลักสูตรการอบรมผู้ประกอบกิจการและหลักสูตรการอบรมผู้สัมผัสอาหารแห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2561 เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการนำกัญชาและกัญชงมาทำอาหารจำหน่ายอย่างปลอดภัย โดยมีทั้งหมด 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรผู้ประกอบกิจการ และหลักสูตรผู้สัมผัสอาหาร มีระยะเวลาในการอบรม 30 นาที

ขณะที่ประเด็นสำคัญในการอบรมคือคุณค่าทางโภชนาการของกัญชาและกัญชง รวมถึงโทษในกรณีบริโภคไม่เหมาะสม การนำกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ข้อปฏิบัติในการนำกัญชาหรือกัญชงมาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร โดยในหลักสูตรของผู้ประกอบกิจการจะเพิ่มเรื่องบทบาท หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในการควบคุม กำกับ ดูแลการใช้กัญชาหรือกัญชงในสถานที่จำหน่ายอาหาร.