“เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้กีฬาจักรยาน ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดแข่งขันจักรยานรายการต่างๆ ทั่วประเทศ แต่มีการแข่งขันหลายรายการ ไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เช่น นักกีฬาที่ไปร่วมแข่งขันเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้จัดหรือบริษัทออแกไนเซอร์บางรายไม่รับผิดชอบ นักกีฬาก็มาร้องเรียนกับสมาคมฯ แต่เนื่องด้วยสมาคมฯ ไม่ได้รับทราบการแข่งขันดังกล่าว จึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ ซึ่งปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำ

ทั้งนี้ สมาคมฯ มีความห่วงใยในความปลอดภัยของนักปั่นทุกคน จึงขอให้ผู้จัดการแข่งขัน หรือบริษัทออแกไนเซอร์ต่างๆ รวมทั้งสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทุกจังหวัด ที่มีโครงการจะจัดการแข่งขันจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันประเภทถนน (ไทม์ไทรอัล, โรดเรซ), ประเภทเสือภูเขา (ครอสคันทรี, ดาวน์ฮิลล์) และประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ ที่ใช้กฎกติกาของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ต้องทำหนังสือขออนุญาตจัดแข่งขันกับสมาคมฯ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบก่อนการแข่งขัน 30 วัน หรือหากมีเหตุสุดวิสัยจะต้องแข่งขันอย่างเร่งด่วน ขอได้โปรดขอรับคำปรึกษาจากฝ่ายเทคนิคของสมาคมฯ โดยตรง เพื่อจะได้พิจารณาตามความเหมาะสมกับจำนวนวันที่จะจัดการแข่งขันต่อไป

“การแข่งขันจักรยานบางประเภท มีความอันตราย เช่น ประเภทเสือภูเขาทั้งดาวน์ฮิลล์ และครอสคันทรี เนื่องจากต้องปั่นลงมาจากภูเขา หรือสภาพภูมิประเทศที่มีอุปสรรค หากผู้จัดการแข่งขันไม่มีความรู้หรือไม่ทราบกฎกติกา เช่น ไม่มีการจัดรถพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดอุบัติเหตุ ไม่มีเครื่องป้องกันการกระแทกตามจุดที่อันตรายระหว่างเส้นทางแข่งขัน บริเวณที่มีโขดหิน หรือต้นไม้ใหญ่ ที่ผ่านมาบริษัทออแกไนเซอร์หลายราย ไม่ทราบกติกาเหล่านี้ ส่งผลให้นักกีฬาที่เข้าแข่งขันเกิดอุบัติเหตุ บางรายอาจถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้ว” พล.อ.เดชา กล่าว

พล.อ.เดชา กล่าวอีกว่า หากผู้จัดการแข่งขันมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง สมาคมฯ จะจัดผู้ตัดสินที่มีความรู้ความสามารถและผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตัดสินประเภทต่างๆ จากวิทยากรที่มาจากยูซีไอ ไปทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน และดูแลเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ทั้งเรื่องรถพยาบาลและเครื่องป้องกันการกระแทกระหว่างเส้นทางแข่งขัน หากเป็นการแข่งขันรายการใหญ่ ก็ต้องจัดผู้ตัดสินไปอย่างเต็มรูปแบบ แต่ถ้ารายการระดับกลาง หรือระดับเล็ก ก็อาจจะจัดผู้ตัดสินไปทำหน้าที่ ลดหลั่นกันลงไป โดยมีผู้ตัดสินท้องถิ่นที่ผ่านการอบรมกับสมาคมฯ มาเป็นผู้ช่วย ส่วนค่าตอบแทน ทางผู้จัดการแข่งขันก็แค่ดูแลเรื่องที่พักและเบี้ยเลี้ยงให้ผู้ตัดสินตามกฎระเบียบ ซึ่งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงแต่อย่างใด

“ช่วงที่ผ่านมา มีผู้จัดหลายรายได้รับข่าวสารไม่ที่ตรงกับความจริง หรือได้รับข่าวเท็จว่าการขออนุญาตจัดการแข่งขันกับสมาคมฯ ต้องเสียเงินมหาศาลไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท หรือต้องเสียค่านายหน้าให้แก่บางคน ทำให้ผู้จัดการแข่งขันไม่กล้ามาขออนุญาตให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การจัดกีฬาจักรยานแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นการปั่นเพื่อสันทนาการ เช่น ปั่นจักรยานท่องเที่ยว ปั่นเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งประเภทนี้ผู้จัดสามารถดำเนินการจัดได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาตสมาคมฯ ส่วนประเภทที่ 2 เป็นการจัดแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ โดยใช้กฎกติกาของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) การจัดประเภทนี้จะต้องขออนุญาตกับสมาคมฯ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ” เสธ.หมึก ย้ำ

ทั้งนี้ สมาคมฯ ยินดีให้การสนับสนุนผู้จัดการแข่งขัน และการแข่งขันทุกๆ รายการ แต่ทั้งนี้ผู้จัดแข่งขันก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักกีฬาเป็นหลัก โดยขอให้ทำหนังสือมาขออนุญาตอย่างถูกต้อง สมาคมฯ ก็จะจัดผู้ตัดสินไปควบคุมดูแล ซึ่งผู้จัดการแข่งขันสามารถเข้าไปศึกษากฎระเบียบดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมกีฬาจักรยานฯ www.thaicycling.or.th ส่วนสโมสรหรือชมรมจักรยานที่จะส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ขอให้ตรวจสอบว่า การแข่งขันรายการใดที่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง และรายการใดที่ไม่ได้ขออนุญาต โดยสมาคมฯ จะประกาศลงในเว็บไซต์ของสมาคมฯ เป็นประจำทุกเดือน แต่ถ้านักกีฬาคนใดไปร่วมแข่งขันในรายการที่ไม่ได้ขออนุญาตมาอย่างถูกต้อง ก็จะมีบทลงโทษตามที่ระบุไว้ในกฎระเบียบของสมาคมฯ หรือมีข้อสงสัยประการใด ขอให้สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2719-3340-2 ในวันและเวลาราชการ.