“เดลินิวส์” ยังเกาะติดตีแผ่ความจริงสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของอควาเลียมหอยสังข์ จ.สงขลา มาสู่ตึกร้างอาคารผู้ป่วยนอก รพ.สุราษฎร์ธานี และสนามกีฬาภาคตะวันออกพัทยา จ.ชลบุรี โดยคราวนี้ไปภาคเหนือกันบ้าง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจรายงานว่า มีอาคารสถานที่ถูกทิ้งร้างอีก 1แห่ง คืออาคารศูนย์ OTOP (โอทอป) กลางบึงทุ่งกะโล่ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 35 ล้านบาท ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ออกแบบอย่างสวยงาม 5 หลัง พร้อมทางเดินเชื่อมต่อกันระหว่างอาคาร แต่สภาพปัจจุบันถูกปล่อยทิ้งร้างมายาวนานเกือบ 20 ปี บานประตู บานหน้าต่างโดนงัดแงะไปหมดสิ้น ฝ้าเพดานแตกหัก หลอดไฟฟ้า ปลั๊กไฟฟ้าหายเกลี้ยง พื้นผิวในอาคารสกปรกเต็มไปด้วยฝุ่น และรอบอาคารต้นหญ้า เถาวัลย์ขึ้นปกคลุมราวกับบ้านผีสิง

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ OTOP (โอทอป) บึงทุ่งกะโล่แห่งนี้ เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ใช้งบประมาณของทางจังหวัดอุตรดิตถ์ดำเนินการ วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์จัดกิจกรรมและจำหน่ายสินค้า OTOP และบริการแสดงสินค้าต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนภารกิจในท้องถิ่นที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยรวม ภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาคารศูนย์ OTOP (โอทอป) มีพื้นที่ทั้งหมด 7,500 ไร่ อยู่ห่างจากถนนสาย 11 หรือถนนสายพิษณุโลก-เด่นชัยประมาณ 2 กม. ในปี พ.ศ.2546 สมัย นายปรีชา บุตรศรี ดำรงตำแหน่ง ผวจ.อุตรดิตถ์ ได้พัฒนาพื้นที่ทำโครงการเป็นอุทยานการศึกษา การกีฬาและสันทนาการ คาดหวังให้เป็นเมืองใหม่ของจังหวัด ระยะเริ่มต้นของโครงการมีการประชุมหารือ กำหนดเป้าหมายเตรียมจะย้ายสถานศึกษา และส่วนราชการที่ไม่ได้ประจำอยู่ศาลากลางจังหวัดเข้ามาอยู่ในโครงการ ทั้งสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรดิตถ์

โดยงบประมาณได้อนุมัติและดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย ก่อสร้างโอทอป 21 ล้านบาท ถนนเข้าออกโครงการแบบ 4 ช่องทางจราจร 8 ล้านบาท ค่าออกแบบอาคาร OTOP จำนวน 3 ล้านบาท และขยายเขตไฟฟ้าเข้าโครงการ 3 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 35 ล้านบาท ภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น ได้ถ่ายโอนอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาเรื่องการขออนุญาติเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณสถานที่ก่อสร้างและพื้นที่โครงการ กระทั่งปี 2553 โครงการต้องหยุดชะงักไป คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้บึงทุ่งกะโล่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างหรือพัฒนาได้ตามแผนที่กำหนดไว้ได้

ต่อมามีพระภิกษุสงฆ์จากวัดแห่งหนึ่งเข้าไปปรับปรุงพื้นที่และใช้ประโยชน์บริเวณรอบอาคารเกี่ยวกับอบรมสั่งสอนปฏิบัติธรรมระยะหนึ่ง แต่ทาง อบจ.อุตรดิตถ์ เห็นว่าเข้าไปยึดครองพื้นที่โดยไม่ได้ขออนุญาต จึงนิมนต์ออกไปและไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ ในบริเวณดังกล่าวอีกเลย ทุกวันนี้กลายเป็นสถานที่รกร้างและบางวันกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น ทั้งเป็นแหล่งเสพยาเสพติด เป็นแหล่งเริ่มต้นของอบายมุขและสิ่งมอมเมาต่างๆ

กระทั่งกลางปี พ.ศ.2557 เทศบาลตำบลป่าเซ่า ได้ทำหนังสือถึง อบจ.อุตรดิตถ์ ขอใช้ประโยชน์จากอาคารเพื่อพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน อุทยานการศึกษา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ศูนย์รวมทำกิจกรรมสันทนาการ ประชาสัมพันธ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน เบื้องต้นการถ่ายโอนจาก อบจ.มาดูแลทำท่าจะเรียบร้อยดี แต่สุดท้ายติดขัดข้อพิพาททางกฎหมายและใช้ประมาณปรับปรุงอีกจำนวน ทำให้โครงการชะงักไป และในปี พ.ศ.2558 เทศบาลตำบลป่าเซ่า ทำเรื่องขอคืนอาคารให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่อุตรดิตถ์ เนื่องจากใช้ประโยชน์จากอาคารไม่ได้เลย

นายวินัย เอี่ยมสกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลป่าเซ่า เปิดเผยว่า เทศบาลฯ มีโครงการจะย้ายสำนักงานเข้าไปอยู่ในบึงทุ่งกะโล่ เนื่องจากสำนักงานเดิมเล็กและคับแคบ เห็นว่า อบจ. สร้างอาคารไว้แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ ประกอบกับตัวอาคารตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบด้วย ทางเทศบาลจึงขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่ อบจ.ก็อนุญาตให้ใช้ได้ พร้อมถ่ายโอนส่งมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลป่าเซ่า ต่อมาพบว่าพื้นที่บึงทุ่งกะโล่ยังติดขัดปัญหาข้อกฎหมายเข้าใช้ประโยชน์ไม่ได้ รวมทั้งตัวอาคารที่ต้องใช้งบประมาณที่สูงในการบำรุงซ่อมแซม มองว่ายังมีปัญหาเยอะ จึงทำเรื่องขอส่งคืนให้กับจังหวัด โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่อุตรดิตถ์แจ้งว่าอาคารอยู่ห่างไกลสำนักงานฯ ไม่มีบุคลากรและงบประมาณดูแลรักษา จึงรับคืนจากเทศบาลไม่ได้ จนกว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆขอใช้ประโยชน์อาคาร ก็จะพิจารณาอนุญาตต่อไป

อย่างไรก็ตามกลางปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีบริษัทวิสาหกิจแห่งหนึ่งให้ความสนใจพัฒนาพื้นที่อาคารศูนย์ OTOP (โอทอป) แห่งนี้ เตรียมพัฒนาสร้างประโยชน์ให้สังคมและชุมชนสูงสุด ยกระดับนวัตกรรม การผลิต ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาและส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้รากหญ้า ส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งรายละเอียดจะเกาะติดนำเสนอให้ทราบต่อไป.