จากการพิจารณาปมร้อนของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการเป็นนายกรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ โดยหลังจากพิจารณาว่า คดีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงยุติการไต่สวน พร้อมทั้งกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. นี้ ซึ่งหลังจากนี้ ก็คงจะต้องรอลุ้นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตา “บิ๊กตู่” ไปในทิศทางใด ด้วยหลักการและเหตุผลอย่างไร

แม้ท่าที “บิ๊กตู่” ที่สะท้อนผ่านกระบอกเสียงรัฐบาล จะออกอาการ “ใจดีสู้เสือ” ว่าเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าจะให้ความเคารพต่อผลการพิจารณาของศาล ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องนี้ก็ยังคงจะต้องลุ้นกันจนวินาทีสุดท้าย

งานนี้ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องวาระ 8 ปี จะออกมาในทิศทางใด ล้วนส่งผลกระทบต่อเกมการเมืองและเกมการเลือกตั้งในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้หากคำวินิจฉัยชี้ชัดว่า “บิ๊กตู่” ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีแล้ว ก็จะกลายเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองของ “รัฐบาลเรือเหล็ก” ตามไปด้วย เพราะจะต้องเข้าสู่โหมดการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ ซึ่งอาจจะกลายเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่รอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลครั้งใหม่ ด้วยเหตุที่ว่า รายชื่อนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอในส่วนของพรรครัฐบาลเหลือคนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข แต่พรรคที่กุมอำนาจสูงสุดอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรักษาการนายกฯ นอกจากนั้นยังอาจจะเกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแรงกดดันให้ยุบสภา เพื่อล้างกระดานอำนาจ เปิดทางสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่

แต่หากคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางที่ว่า ยังไม่ครบวาระดำรงตำแหน่ง และชี้ชัดว่าจะต้องเริ่มนับวาระตั้งแต่ปี 2560 แม้เกมอำนาจในช่วงที่เหลืออยู่จะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่ก็จะกลายเป็นจุดพลิกผันในเกมการเลือกตั้งในอนาคต เพราะจะเท่ากับว่า “บิ๊กตู่” ยังมีเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ เหลืออีก 2 ปี ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ค่อนข้างลูกผีลูกคนว่า หากมีการชู “บิ๊กตู่” ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ หากชนะการเลือกตั้งได้ และดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว จะไปต่อกันอย่างไร

ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา ที่เป็นนายกฯ อีกได้เพียงครึ่งเทอมเท่านั้น ก็เป็นคำถามที่แทบจะไม่ต้องการคำตอบเลยว่า จะมีพรรคไหนเสนอชื่อหรือไม่? และจะได้รับเสียงสนับสนุนหรือไม่? เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งจะต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ ซึ่งจะเป็นจุดเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลโดยไม่จำเป็น ดังนั้นการเสนอชื่อนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งได้ครบเทอม อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าหรือไม่ หรือหากจะใช้โมเดลการส่งไม้ต่อนายกฯ คนที่ 2 หลังจาก “บิ๊กตู่” ครบ 8 ปีแล้ว ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายดาย และไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเกมอำนาจและสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ และจะกลับไปสู่โจทย์ที่ว่า หากมีคนที่บารมีทางการเมืองมากพอที่จะเป็นนายกฯ ต่อจาก “บิ๊กตู่” ได้ การเสนอชื่อบุคคลนั้นเป็นนายกฯ ตั้งแต่แรก อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แต่หากท้ายที่สุดแล้ว คำวินิจฉัยชี้ชัดว่าต้องเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งของ “บิ๊กตู่” ตั้งแต่ปี 2562 ก็ยังอาจจะกลายเป็นจุดพลิกผันในเกมการเลือกตั้งในอนาคตได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุปัจจัยจากความบอบช้ำทางการเมืองหรือไม่

ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตถึง “จุดบอด” ในคำร้องของฝ่ายค้าน ที่ถูกท้วงติงว่า ไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจนว่า วาระการดำรงตำแหน่งของ “บิ๊กตู่” จะต้องเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เป็นคำร้องขอให้ตีความว่าครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ได้คำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญเพียงว่า ครบหรือไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่งเท่านั้น จนทำให้ต้องยื่นคำร้องเพื่อขยายความชัดเจนกันอีกรอบว่า ต้องเริ่มนับวาระกันตั้งแต่เมื่อใดก็ได้  

ซึ่งข้อสังเกตในเรื่องนี้ อาจจะกลายเป็นปมปัญหาในอนาคตได้เช่นกัน โดย “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ยอมรับตามตรงว่าไม่ทราบ พร้อมอธิบายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจระบุแค่ว่าพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ หรือศาลรัฐธรรมนูญอาจบอกเหตุผลด้วยว่า ต้องนับวาระดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด ทั้งนี้ไม่ทราบว่าคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร มันเป็นไปได้ทุกทาง

ปรับโฟกัสมาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กป้อม” ที่มีการลงพื้นที่เรียกเรตติ้งแบบถี่ยิบ ด้วยท่าทีกระฉับกระเฉงใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับภาพมวลชนห้อมล้อม ตามด้วยป้ายข้อความ “เรารักลุงป้อม” จนเกือบถูกมองว่าเป็นมากกว่ารักษาการนายกฯ ไปเสียแล้ว แตกต่างความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กตู่” ที่ยังคงหลบมุมทำงานในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม และเคลื่อนไหวผ่านบทบาท รมว.กลาโหม

สิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะมองได้ว่าเป็น “เกมบาลานซ์สมดุลอำนาจ” ระหว่าง “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” เพื่อให้อำนาจการคุมเกมยังอยู่ในกลุ่ม “พี่น้อง 3 ป.” แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นสถานการณ์อันน่าอึดอัด จนอาจนำไปสู่ช่องโหว่ด้านความสัมพันธ์กันอีกระลอก!

และที่น่ากังวลไม่น้อยกว่าความสัมพันธ์ “พี่น้อง 3 ป.” ก็หนีไม่พ้นความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยล่าสุดจับสัญญาณรอยร้าวจากกรณี ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ต้องสะดุด หลังจากสภามีมติถอนร่างออกจากวาระการประชุม ด้วยเหตุที่ว่า เนื้อหายังไม่ครอบคลุมรอบคอบ โดยที่เสียงเห็นด้วยให้ถอนร่างกฎหมายนั้น มาจากหลากหลายพรรค ทั้ง พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ

โดยปมปัญหาอยู่ที่ ท่าทีของ พรรคประชาธิปัตย์-พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าการลงมติให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าว เท่ากับเป็นการเปิดสงครามกับ พรรคภูมิใจไทย ที่ถือเป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องการปลดล็อกกัญชา และพยายามผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

งานนี้ “เสี่ยหนู” หัวเรือใหญ่ของ พรรคภูมิใจไทย ก็ได้พูดชัด เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาลว่า “ส่วนที่กระทบก็กระทบไป เรามั่นใจว่าประชาชนได้ประโยชน์ต่อจากนี้ไป หากมีอะไรเกี่ยวกับกัญชา อย่ามาที่ภูมิใจไทย หรือมาที่ สธ. ให้ไปที่พรรคที่เขาดึงเตะถ่วง มี 3 พรรค คือ เพื่อไทย, ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ ส่วนจะโหวตทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ให้ไปถามคนเตะถ่วง”

ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องลุ้นระทึก เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากรอยร้าวลุกลามบานปลาย อาจจะทำให้เกิดภาพการสู้กันเอง จนทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคงพอที่จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

แม้ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคจะเริ่มส่งสัญญาณเตือน ส.ส. ให้เตรียมตัวพร้อมขึ้นสังเวียนสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 2565 อาจจะมีการยุบสภาเกิดขึ้น หลังการประชุมเอเปค แต่ก็คงต้องรอดูว่า จากอาการลุ่มๆ ดอนๆ ของรัฐบาลในตอนนี้ จากการเล่นเกมตีแต้มเอาคะแนนชิงพื้นที่ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง อาจจะเป็นตัวกำหนดอายุรัฐบาลให้สั้นลงเกินกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้หรือไม่

ปิดท้ายกันด้วยความเคลื่อยไหวของ พรรคเพื่อไทย ที่มีการจัดกิจกรรม “สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ” ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีบุคคลในครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร เข้าร่วมกิจกรรมกันแบบยกครัว ไล่ตั้งแต่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พร้อมด้วยลูกๆทั้ง พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ บุตรสาว รวมทั้งบรรดาบุตรเขย

การร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างพร้อมเพรียงของครอบครัวชินวัตรครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณสู้ศึกเลือกตั้งอย่างชัดเจน เพราะถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่ คุณหญิงพจมาน ปรากฏตัวในกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย แบบ “เปิดหน้า” เพื่อหนุน “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก้าวไปสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง หากท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยสามารถสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ได้จริง

ท้ายที่สุดก็คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า “เกมระเบิดเวลา” ปมร้อนวาระ 8 ปี “บิ๊กตู่” จะส่งผลกระทบต่อสมการการเมืองหลังจากนี้ไปในทิศทางใด…อีกไม่นานคงได้รู้กัน!.