เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีข้อห้ามการหาเสียงของพรรคการเมืองและ ส.ส.ช่วง 180 วัน ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง มีมุมมองกับพรรคการเมืองเป็นลบ จึงต้องมีรัฐธรรมนูญปราบโกง จึงต้องมีข้อจํากัด ควบคุม ตรวจสอบพรรคการเมืองอย่างเข้มข้น อันเป็นยุคสมัยของพวกยึดอํานาจและสภาแต่งตั้ง เบื้องต้นจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายเลือกตั้งและพรรค การเมือง เปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่าพรรคการเมืองคือตัวแทนประชาชน มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของ ประชาชน เท่าที่ตนได้ตรวจสอบมีข้อสังเกตที่อยากให้สังคมเห็นดังต่อไปนี้ 1.การขยายเวลาการบังคับใช้ในเรื่องการหาเสียงออกไปถึง 180 วันก่อนวันครบอายุสภา เป็นระยะเวลานานเกินไป แตกต่างจากกรอบเวลาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2541 ที่เริ่มจากวันที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการ เลือกตั้ง หรือแม้แต่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2550 เริ่มตั้งแต่ 90 วันก่อนวันครบอายุสภาจนถึงวันเลือกตั้ง และ กกต. ในขณะนั้นมิได้เน้นการบังคับการหาเสียงในช่วงก่อนมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง หากจะเน้นในเรื่องการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ กกต.ชุดปัจจุบันกลับเน้นการบังคับการหาเสียงโดยออกระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งครอบคลุมไปในช่วง 180 วันก่อนวันครบอายุสภา และกําหนดไว้ในระเบียบว่าให้บังคับใช้กับผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งด้วย ประเด็นนี้อาจมีปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากในขณะที่กระทํา ผู้นั้นยังมิได้มีสถานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

2.ข้อห้ามหลายกรณีในระเบียบดังกล่าวมีลักษณะฝ่าฝืนธรรมชาติ และขัดต่อการทําหน้าที่ ส.ส.ในฐานะผู้แทนปวงชน เช่น ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งอาจมีความจําเป็นต้องจัดงานอันเป็นประเพณีสําหรับคนในครอบครัว เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน ในช่วงระยะเวลาต้องห้าม แต่อาจจะเข้าข่ายเป็นการจัดเลี้ยง ยิ่งในช่วงระยะเวลานี้มีสถานการณ์ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากพายุและอุทกภัย แต่มีข้อห้ามมิให้มีการมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งขัดต่อการทําหน้าที่ของ ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชน ที่มีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ในทางตรงกันข้ามข้อห้ามนี้มิได้ถูกนํามาบังคับใช้กรณีนายกฯ หรือรัฐมนตรี ลงไปปฏิบัติหน้าที่และมีการมอบสิ่งของหรือเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบภัย โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของฝ่ายบริหาร ทําให้เกิดความได้เปรียบในการหาเสียง

3.การจัดทําป้ายหาเสียงในช่วงเวลานี้ ถูกควบคุมทั้งเรื่องขนาดของป้าย จํานวนและสถานที่ติดตั้ง ทั้งที่ยังไม่มีการประกาศเขตการเลือกตั้งใหม่ ยังไม่มีการกําหนดจํานวนหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลต่อการกําหนดจํานวนป้าย แต่กกต.กลับให้ถือปฏิบัติตามเดิมไปพลางก่อนซึ่งขัดกับข้อเท็จจริง ที่สําคัญยิ่งคือ การบังคับใช้ในเรื่องนี้มิได้ถูกนํามาบังคับ กรณีที่มีการจัดทําป้ายต้อนรับรัฐมนตรีหรือป้ายประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล โดยอ้างว่ามิใช่ป้ายหาเสียง ทั้งที่มีผลในการจูงใจให้เกิดความนิยม ทั้งต่อตัวรัฐมนตรีหรือพรรคการเมืองต้นสังกัด

4.เรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง เนื่องจากกรอบเวลาในการหาเสียง และกรอบเวลาในการคํานวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเป็นระยะเวลาที่นานมาก อย่างน้อย 225 วันหรือ 7 เดือนครึ่ง ทําให้ยากต่อการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ กําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามมาตรา 62 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 จะมีการกําหนดขึ้นภายหลังโดย กกต.ต้องหารือกับ พรรคการเมือง หากผู้ประสงค์จะสมัครและพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเกินจํานวนที่กําหนด จะมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายได้ ตนจึงเห็นว่าการขยายเวลาการบังคับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปนี้ อาจมีปัญหาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ทําให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นสําคัญที่ควรที่จะได้มีการทบทวนแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ทางด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรค พท.ได้ออกแถลงการณ์กรณีระเบียบกกต. เรื่องข้อปฏิบัติในระยะเวลาหาเสียง 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร ว่าตามที่กกต.ได้ออกระเบียบตามมาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 68 กฎหมายเลือกตั้งว่า ภายในระยะเวลา 180 วันนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.65 ไปถึงการเลือกตั้งทั่วไป ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องรวมนับค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง และมีข้อห้ามอื่นๆ เรื่องการแจกสิ่งของและวิธีการหาเสียง นั้น

พรรค พท.มีความเห็นว่า กฎหมายเลือกตั้งต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรีและเป็นธรรม ใช้บังคับกับนักการเมือง พรรคการเมือง และว่าที่ผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอยู่ในฝ่ายบริหารหรือไม่ก็ตาม โดยมีความเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวอาจมีปัญหาว่าขัดกับหลักสามัญสำนึก หลักนิติธรรมและหลักปฏิบัติที่ใช้กันมา ดังนี้ 1.บทบัญญัติในกฎหมายเลือกตั้งทำนองนี้ ไม่เคยมีมาก่อน แต่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร และพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่สมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับเป็นผู้พิจารณาเรื่องการเลือกตั้ง 2.ข้อจำกัด 180 วันนี้มีความลักลั่น เนื่องจากถ้าในการเลือกตั้งภายหลังการยุบสภา จะต้องใช้บทบัญญัติอื่นที่ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่าย และห้ามกระทำบางเรื่องจะสั้นกว่า ตามปกติประมาณ 60 วัน สะท้อนว่าการห้ามเป็นระยะเวลา 180 วันนั้นไม่มีตรรกะที่ดีในการร่างกฎหมาย

3.เงื่อนไข 180 วันนั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนานเกินควรที่จะได้รับทราบนโยบายของนักการเมืองในบางสถานที่และเวทีที่มีข้อห้ามและประชาชนมาชุมนุมกันจำนวนมาก เช่น ในเวทีที่มีมหรสพ อีกทั้งยังทำให้นักการเมืองไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติประเพณีได้ในช่วงเวลานั้น เช่น การใส่ซองในงานประเพณีต่างๆ นอกจากนั้นข้อห้ามที่ค่อนข้างนานกระทบต่อการดูแลช่วยเหลือประชาชนถ้ามีกรณีภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม เป็นต้น 4.เงื่อนไขในลักษณะนี้มีปัญหาเรื่องความชัดเจน ก่อให้เกิดความกังวลว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แม้กกต.จะได้ชี้แจง แต่ข้อกังวลยังคงอยู่ เพราะยังมีช่องในการตีความ และใช้ดุลพินิจ กฎหมายที่ดีควรชัดเจน และไม่ควรเปิดช่องให้ต้องตีความ และ 5.ข้อที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ถ้าบทบัญญัติและระเบียบห้ามนักการเมืองทั่วไปว่าทำไม่ได้ แต่ผู้มีตำแหน่งทางฝ่ายบริหารในรัฐบาลเช่นรัฐมนตรีทำได้ อาจรู้สึกว่าลักลั่นกัน มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมเป็นธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง พรรคมีความเห็นว่าบทบัญญัติกฎหมายต้องไม่ทำให้ฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

“พรรค พท.เห็นว่า โจทย์สำคัญของการเลือกตั้งคือ ต้องสุจริต เสรีและเป็นธรรม ดังนั้นกฎหมายเลือกตั้งต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ ถ้าบทบัญญัติเรื่องค่าใช้จ่าย และการห้ามทำกิจกรรมในบางเรื่องในช่วงเวลา 180 วันก่อนสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น เราก็ต้องช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไข และพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะพิจารณาเสนอแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ร่วมกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดียิ่งขี้น เนื่องจากกฎหมายที่ดีต้องชัดเจน ปฏิบัติตามได้ สอดคล้องกับสามัญสำนึก และหลักนิติธรรม” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว.