จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมอาเซียน สลดวงการลูกหนังโลก เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 129 ราย และบาดเจ็บประมาณ 180 คน ในเหตุจลาจลระหว่างการแข่งขันฟุตบอลในอินโดนีเซีย เกมระหว่าง อารีมา เอฟซี พบกับ เพอร์เซบายา สุราบายา ที่ชวาตะวันออก เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์วุ่นวายของเกมฟุตบอลที่เลวร้ายที่สุด
-สูญเสียครั้งประวัติศาสตร์! ลูกหนังโลกเศร้า แฟนบอลอิเหนาจลาจล ตายเป็นสถิติ129ศพ

แต่หากย้อนกลับไปดูอดีตแล้ว เหตุการณ์ที่อินโดนีเซีย ไม่ใช่ครั้งแรกที่วงการฟุบอลต้องพบกับความสูญเสีย.. ย้อนกลับไปเมื่อ 33 ปี โลกได้พบกับเหตุการณ์สุดเศร้า.. “โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์” ที่ทำให้้แฟนบอลลิเวอร์พูลต้องสิ้นลมหายใจเกือบร้อยคน!

จุดเริ่มต้นเหตุการณ์
ภัยพิบัติฮิลส์โบโรห์ หรือ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์ (Hillsborough disaster) เป็นอุบัติเหตุ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) เป็นวันที่การแข่งขันรอบรองชนะเลิศของเอฟเอ คัพ ฟุตบอลถ้วยเก่าแก่ของอังกฤษ ระหว่าง ลิเวอร์พูล ยอดทีมระดับโลก กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ต้องตัดสินชะตาเพื่อหาผู้ชนะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกับ เอฟเวอร์ตัน สนามที่ใช้เป็นสนามแข่งคือ “สนามฮิลส์โบโรห์” ของสโมสรเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์

ก่อนแข่งมีการกำหนดอัฒจรรย์สำหรับกองเชียร์ทั้งสองทีมและถูกทักท้วงโดย ลิเวอร์พูล มาก่อนหน้าแล้วเนื่องจากทีมลิเวอร์พูล ซึ่งมีแฟนบอลมากกว่าแต่ได้ฝั่งที่นั่งที่จุคนได้น้อยกว่าคือ เลปปิงส์ เลน เอนด์ ทีจุได้ 14,600 ที่ แต่ทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ทีมที่เล็กกว่าแต่ได้อัฒจันทร์ฝั่งที่จุคนมากกว่าที่ฝั่งด้านตะวันออกหรือ สเปียน ค็อป ที่จุ 21,000 ที่ และเป็นความผิดพลาดแรกของฝ่ายจัดการแข่งขัน

การแข่งขันมีกำหนดการณ์คือเวลา 15.00 น. และมีการประกาศให้แฟนบอลควรเข้าสนามก่อนเวลา 14.45 น. แฟนบอลของน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เข้าสู่สนามไม่ยากนักเพราะจำนวนที่น้อย แต่แฟนบอลลิเวอร์พูล ที่ประสบปัญหาการจราจรและการตรวจตราอย่างเข้มงวด รวมทั้งรู้อยู่แล้วว่าตั๋วที่มีจำกัดกับความต้องการชมของแฟนบอลที่มีมากกว่าทำให้มากระจุกอยู่ที่ทางเข้าที่มี 3 ทาง และมีช่องเช็กตั๋วแบบเก่าที่ใช้การหมุนอยู่ 7 ตัว

และยิ่งใกล้เวลาแข่งแฟนบอลยิ่งกังวลใจและอยากจะเข้าไปชมเกมในสนามอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางเข้าที่ค่อนข้างแคบถูกผลักดันจากแฟน ๆ ข้างหลัง ในขณะที่แฟนบอลบางคนก็ไม่มีตั๋วชมเกมทำให้ถูกกัก แฟนบอลข้างหลังก็ผลักดันและเมื่อคนคุมเห็นฝูงชนที่แออัดก็เลยเปิดประตูทางเข้าประตู C ที่ไม่มีช่องเช็กตั๋ว ทำให้กองทัพแฟนบอลแห่กันเข้าไปช่องทางนั้นอย่างมากมาย ประกอบกับการแข่งขันเริ่มไปแล้ว เสียงกองเชียร์ในสนามโห่ยิ่งเพิ่มแรงผลักดันถาโถมเข้าไป และทางเข้า ประตู C ที่นำไปสู่ล็อกผู้ชมที่ 3 และ 4 ในสนามที่รองรับผู้ชมได้เพียง 1,600 คน

ฝันร้ายของแฟนลิเวอร์พูล
การถาโถมกันเข้ามาในสนามของแฟนบอลแบบไม่มีทิศทางเพราะไม่ได้ผ่านช่องเช็กตั๋ว ทำให้แฟนบอลกว่า 3,000 คน เข้าไปอัดกันในล็อกที่นั่ง 3 และ 4 และเนื่องจากในสมัยนั้นแต่ละล็อกจะมีรั้วกั้นเพื่อป้องกันบรรดาฮูลิแกนส์ หรืออันธพาลลูกหนัง ที่ก่อเรื่องในสมัยนั้น แฟนบอลที่แห่แหนเข้าไปจากข้างหลังก็อัดแฟนบอลที่อยู่ข้างหน้าจนติดรั้ว และเมื่อเริ่มการแข่งขันมา 4 นาที ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ ก็ซัดลูกข้ามคานทำให้เรียกเสียงเชียร์จากแฟน ๆ ในสนามแต่กลับเป็นการเร่งเร้าให้กองเชียร์นอกสนามทะลักเข้ามาในสนาม แฟนบอลถูกอัดจนหายใจไม่ออก มีบ้างที่ปีนกำแพงหนีออกมาได้ การแข่งขันที่เริ่มไปเพียง 6 นาที ตำรวจก็ให้สัญญาณหยุดการแข่งขัน ในเวลา 15.06 น. และต่างเข้าไปช่วยแฟนบอลที่โชคร้าย “แต่โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในสนามฟุตบอลก็เกิดขึ้นเพียงเพราะความผิดพลาดในการจัดการตั้งแต่แบ่งที่นั่ง การดูแลการเข้าสนาม และการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์”

“ในที่สุดมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 95 ราย และอีกหนึ่งรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รวมทั้งสิ้น 96 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็นแฟนของลิเวอร์พูล”

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ว่ากันว่าเป็นเพราะความสะเพร่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อนุญาตให้แฟนลิเวอร์พูลกว่า 2,000 คน แออัดเข้าไปในอัฒจันทร์ฝั่ง เลปปิงส์ เลน เอนด์ ในช่วงก่อนที่จะเริ่มเกมไม่กี่นาที แถมยังปล่อยให้เข้าไปในชั้นที่มีแฟนบอลแออัดกันแน่นอยู่แล้ว แทนที่จะเป็นฝั่งที่มีแฟนบอลเบาบางกว่า ทำให้แฟนบอลที่อยู่ด้านหน้าโดนอัดติดกับรั้วเหล็ก ซึ่งรั้วเหล็กดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์บางรายกล่าวว่า แฟนบอลที่โดนอัดมาติดรั้วหลายรายเริ่มมีอาการตัวเขียวหน้าเขียว ขณะที่ผู้เสียชีวิตบางรายสิ้นใจเพราะขาดอากาศหายใจขณะทียังยืนอยู่

และความจริงอันน่าเศร้ายิ่งกว่านั้น เมื่อภายหลังพบว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายหลายรายได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง หลายคนติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด เพื่อให้ลืมช่วงเวลาที่เลวร้าย คู่รักหลายคู่ต้องหย่าร้าง บางส่วนต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิต และที่หนักที่สุดคือมีบางคนพยายามฆ่าตัวตาย

ทวงหาความยุติธรม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมืองบางคน พยายามกล่าวหา “เดอะ ค็อป” ว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งการก่อความวุ่นวาย หรือมีแฟนบอลบางส่วนเมาสุราอาละวาด

อีก 3 ปีต่อมา ได้มีการเปิดเผยเอกสารของเหตุการณ์ฮิลส์โบโรห์ ที่มีความหนากว่า 400 หน้า ต่อสาธารณชน โดยใจความสำคัญอยู่ที่หน้า 394 ที่ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองบางคน ได้โยนความผิดให้กับ 96 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าทั้งหมด”

ทำให้นาย เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ต้องออกมาขอโทษแฟนบอลลิเวอร์พูล โดยเขากล่าวว่า หลักฐานใหม่ที่เราได้นำเสนอในวันนี้ ทำให้ชัดเจนแล้วว่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องทนทุกข์กับสองความอยุติธรรม คือ 1.ความสูญเสียต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ 2.ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงเรื่องถูกใส่ร้ายเรื่องการตายว่าแฟนบอลเหล่านั้นก่อเหตุอันนำไปสู่การเสียชีวิตเอง

“ในนามของรัฐบาล และประเทศของเรา ผมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความอยุติธรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้น และปล่อยให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน” นายคาเมรอน กล่าวในถ้อยแถลงต่อสภา

เดือนมกราคม 2016 ฮิลส์โบโรห์ แฟมิลี่ ซัพพอร์ต กรุ๊ป หรือ HFSG ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต 96 ราย ได้ออกมาประกาศว่า จะจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ฮิลส์โบโรห์ครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้าย เพราะพวกเขาเชื่อว่า คดีกำลังใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกำลังได้ข้อสรุปเรื่องการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อปี 1989

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้เสียชีวิตมี “จอห์น-พอล จิลฮูเลย์” ลูกพี่ลูกน้องของ สตีเวน เจอร์ราร์ด รวมถึงลูกชายของมาร์กาเร็ต อัสปินอลล์ ประธานกลุ่ม HFSG ด้วย และแล้ว 3 เดือนต่อมา ครอบครัวของแฟนบอลผู้วายชนม์ทั้ง 96 ราย ได้รับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ 27 ปีที่รอคอย พวกเขาถูกตัดสินว่าพ้นมลทินใสสะอาด จากการลงมติของคณะลูกขุน ด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ยืนยันว่า “แฟนบอลหงส์แดงที่เสียชีวิต 96 รายนั้น ไม่มีสาเหตุและความเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์แต่อย่างใด และเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต่างละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ”

บทเรียนหลังเกตุเหตุสลด
หลังเหตุการณ์นี้ทำให้การเข้าชมฟุตบอลในสนามของลีกสูงสุดของอังกฤษต้องเป็นเปลี่ยนอัฒจันทร์แบบยืนเป็นแบบมีที่นั่งทั้งหมดและให้รื้อรั้วเหล็กออก ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับฟุตบอลยุคใหม่ในอังกฤษ คือ การที่ทำให้มีการออกกฎให้ทุกสนามใน 2 ดิวิชั่นของอังกฤษ ปรับอัฒจรรย์เป็นที่นั่งทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2014

ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2014 ในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนเมษายน ซึ่งเป็นวาระครบ 25 ปีของอุบัติเหตุครั้งนี้ ก่อนการเตะฟุตบอลทุกระดับในอังกฤษไม่ว่าจะเป็นรายการพรีเมียร์ลีกหรือเอฟเอคัพ จะมีการยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 6 นาที และจะเริ่มเกมในนาทีที่ 7 เนื่องจากเวลาที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป่านกหวีดให้ยุติการแข่งขันคือเวลา 15.06 น. ก็คือ หลังจากที่เกมเอฟเอเคัพในครั้งนั้นเริ่มไปได้ 6 นาทีแล้วนั่นเอง

สนามฮิลส์โบโรห์ในปัจจุบัน

ความเศร้าโถมใจอีกครั้ง
แม้จะผ่านเรื่องราวของโศกนาฏกรรมไปถึง 32 ปีแล้วก็ตาม แต่แฟนหงส์แดงก็ต้องเศร้ากันอีกครั้ง แต่เมื่อปี พ.ศ. 2564 โดยทีมลิเวอร์พูล ได้ออกแถลงการณ์ไว้อาลัยให้แก่ “แอนดรูว์ เดอไวน์” แฟนบอลของทีมวัย 55 ปี ที่กลายเป็นเหยื่อผู้เสียชีวิตรายที่ 97 โดยในช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้น แอนดรูว์ มีอายุ 22 ปี เขายังไม่เสียชีวิตในทันที แต่อาการบาดเจ็บครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล เมื่อต้องนั่งรถเข็นหลังออกจากโรงพยาบาล และอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวอย่างใกล้ชิด ก่อนเสียชีวิตในวัย 55 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

และเชื่อว่าถึงแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ชื่อของ 97 คนในเหตุการณ์ “โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโรห์” จะยังคงอยู่ในหัวใจครอบครัวหงส์แดงที่จะไม่ปล่อยให้พวกเขาเหล่านั้นต้องเดียวดาย ดังคำที่ว่า.. You’ll never walk alone..