เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 19 ต.ค. ที่ ด้านหน้าห้องประชุม 10-01 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ว่าที่อธิบดีกรมคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมงานในประเด็น “ทุกครอบครัวและสังคมต้องปลอดภัยด้วยกฎหมาย JSOC” เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. หรือ JSOC ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย ในการดูแลกลุ่มบุคคลอันตราย สร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคม

โซเชียลงง! อดีตส.ส. ‘ครรชิต’ ออกจากคุกเร็ว?คดีฆ่า ‘นายกอบจ.สมุทรสาคร’ คาปั๊ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับคดีอุกฉกรรจ์และการเตรียมความพร้อมของกรมคุมประพฤติ ในส่วนของผู้ต้องโทษในระดับผู้ต้องโทษเฝ้าระวังระหว่างระดับ 1-3 หรือ Watch list 1 – Watch list 3 อาทิ คดีไอ้แหบบุกข่มขืนเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ก่อนฆ่าทิ้งป่าละเมาะใกล้บ้าน, ผอ.กอล์ฟบุกยิงชิงทองกลางห้างลพบุรี, รวบเสี่ยต้อยเมายาบ้า ฆ่านักเรียน 3 ศพ คลั่งยิงบ้านพรุน และฆาตกรอำมหิต รุจ แก้วช่วง เสพยาฆ่าเหยื่อต่อเนื่อง เป็นต้น

โดยภายหลังนายสมศักดิ์เดินชมรายละเอียดภายในงาน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า สำหรับกฎหมาย JSOC จะเป็นกฎหมายที่ออกมาควบคุมผู้ต้องโทษจากคดีความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเราและอนาจาร ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย เช่น ฆ่าคนตายทำร้ายร่างกายจนอันตรายสาหัส และความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เช่น การเรียกค่าไถ่ สำหรับการเตรียมพร้อมนั้น หากภายหลังจากมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ ก็มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดำเนินการ อย่างกรมราชทัณฑ์ก็จะมีโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูบุคคลต่างๆ ตามกฎหมาย โดยผู้ที่มีความรู้ และนักจิตวิทยา เป็นต้น และเมื่อพ้นโทษแล้วก็จะต้องมีการเฝ้าระวังโดยการติดกำไลอีเอ็ม 10 ปี เป็นขั้นสูงสุด ส่วนจะติดกำไลน้อยกว่า 10 ปีหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯที่มีรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการฯ การดูแลตรงนี้คอยพิจารณา

นายสมศักดิ์ ยังอธิบายกลุ่ม Watch list 1-3 หรือกลุ่มผู้กระทำผิดที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย JSOC นี้ว่า กลุ่มวอทช์ลิสต์ 1 คือ คนที่พ้นโทษออกจากเรือนจำไป แต่กฎหมาย JSOC นี้ยังไม่บังคับใช้ จึงไม่สามารถนำกฎหมายนี้ไปบังคับใช้ได้ แต่ในทางกฎหมายได้มีบทเฉพาะกาลที่มีการกำหนดให้กรมคุมประพฤติติดตามไปโดยอัตโนมัติ โดยติดตามดูเท่าที่ทำได้ ซึ่งกลุ่มวอทช์ลิสต์ 1 มีประมาณ 100 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดคดีทางเพศ ย้อนหลังสามปี ส่วนกลุ่มว็อทช์ลิสต์ 2 คือผู้ต้องโทษกำลังจะออกจากเรือนจำ เมื่อมีกฎหมาย JSOC ใช้แล้ว ก็จะถูกจัดเป็นวอทช์ลิสต์ 2 ส่วนกลุ่มวอทช์ลิสต์ 3 คือ ผู้กระทำผิดที่กำลังจะเข้าเรือนจำ หรือกลุ่มที่ก่อคดีใหม่ และศาลยังไม่ได้ตัดสินพิพากษาคดีดังนั้น กรมคุมประพฤติจึงต้องมีการทำเรื่องขอต่อศาลเพื่อขอให้เฝ้าระวังตามกฎหมายฉบับนี้

นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม? ราชทัณฑ์แจงปมปล่อยตัว ‘ครรชิต ทับสุวรรณ’

ด้าน พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ว่า เกิดจากคดีที่นายสมคิด พุ่มพวง ออกจากเรือนจำแล้วไปทำความผิดซ้ำ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงให้คิดวิธีที่จะป้องกันการทำผิดซ้ำ แรกๆ ใช้เป็นระบบเชิงสร้างสรรค์ โดยการประสานงานกับตำรวจพื้นที่ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ให้ติดตามผู้พ้นโทษในกลุ่ม 3 คดี เฝ้าระวังติดตาม แต่ตามดูได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำได้ไม่เต็มที่ จึงต้องออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในคดีฆ่า คดีทางเพศที่โหดร้ายทารุณ และคดีเรียกค่าไถ่ ซึ่งตนก็ได้มีการเดินทางไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย เพื่อนำบางจุดมาปรับใช้กับของประเทศไทย

สำหรับกรณีของนายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต คดียิงนายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรสาคร จนเสียชีวิตเมื่อ 25 ธ.ค.54 อยู่นอกพื้นที่เรือนจำ เนื่องจากได้รับการอภัยโทษออกตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนขอบคุณนายสมชาย แสวงการ ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูด อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งกรมราชทัณฑ์ตรวจสอบการพ้นโทษของนายครรชิต ทับสุวรรณ แล้ว เบื้องต้นไม่พบความผิดปกติในการได้เลื่อนชั้นนักโทษ แต่ก็ได้ให้ตรวจสอบในเชิงลึกเพิ่มเติมว่ามีการคำนวณวันลดโทษผิดหรือไม่ โดยให้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการคิดคำนวณโทษผิดไปกี่เดือน นายครรชิตก็ต้องถูกเรียกกลับมาจำคุกเพิ่มเติม และหากจำคุกครบตามจำนวนโทษ หลังพ้นโทษก็ต้องติดกำไลอีเอ็ม จำนวน 10 ปี (ในกรณีที่กฎหมาย JSOC ออกมาทัน) ถือว่าเป็นการเฝ้าระวัง แต่ขณะนี้ นายครรชิตถือว่าอยู่ในกลุ่ม Watch list 1 จึงยังไปไม่ถึงตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ จึงไม่ได้ถูกใส่กำไลอีเอ็ม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาสาของกรมคุมประพฤติจะคอยติดตามและประสานกับเจ้าหน้าที่ในท้องที่อย่างต่อเนื่องแน่นอน

ขณะที่นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรณีของนายครรชิต ทับสุวรรณ ได้ถูกปล่อยตัวไปแล้ว เพราะว่าได้ดำเนินการตามกฎหมาย กรมราชทัณฑ์จึงปล่อยตัวไป แต่ยังต้องมีการเฝ้าระวัง ซึ่งกรณีที่มีความสับสนเรื่องการพ้นโทษออกไปของคนในสังคม ตอนนี้ทางกรมราชทัณฑ์กำลังมีการตรวจสอบตามที่รัฐมนตรีสั่งการ และหากทราบผลการตรวจสอบ จะรีบรายงานให้ทราบต่อไป.