รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. วันที่ 28 ต.ค.65 รฟท. จะเสนอขอความเห็นชอบผลการทบทวนราคาค่าก่อสร้าง โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงิน 6,645 ล้านบาท ปรับเป็นวงเงิน 4,694 ล้านบาท เนื่องจากเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในส่วนของการจัดหาขบวนรถ มาอยู่ในการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) งานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)

และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. จากเดิมที่ ครม.อนุมัติ วงเงิน 6,570 ล้านบาท  ปรับเป็น 6,468 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบ แต่งานโยธาเปลี่ยนแปลงไม่มาก และปรับขอบเขตงานให้น้อยลง รวมถึงค่าเวนคืนที่ดินลดลง วงเงินจึงลดลง อย่างไรก็ตามหากบอร์ด รฟท. เห็นชอบ คาดว่า รฟท. จะสามารถเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม. รับทราบได้ภายในเดือน พ.ย.65 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้น รฟท. มีแผนเปิดประกวดราคางานก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.66 ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, 2.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต และ 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างประมาณเดือน พ.ค.66 ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างประมาณเดือน มิ.ย.66 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างต่อไป โดยคาดว่าเส้นทาง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเดือน พ.ค.69

ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณเดือน มิ.ย.69 และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณเดือน พ.ค.70 อย่างไรก็ตามในส่วนของ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถีใหม่ ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก พร้อมทั้งต้องประเมินราคาค่าก่อสร้างใหม่ เบื้องต้นอาจต้องปรับกรอบวงเงินเพิ่มประมาณ 2,843 ล้านบาท จากเดิม 44,157 ล้านบาท เป็นประมาณ 47,000 ล้านบาท โดยเส้นทางนี้คาดว่าจะเสนอ ครม. เดือน ธ.ค.65 เปิดประมูลปี 66 ได้ผู้รับจ้างเดือน ก.ย.66 เปิดบริการเดือน เม.ย.71

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับงานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งจะเป็นการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยขณะนี้เรื่องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. แล้ว เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม. พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 67 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปีแรกของการเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง จะมีผู้โดยสารประมาณ 9 หมื่นคนต่อวัน ประมาณการรายได้ 50 ปี อยู่ที่ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท.