เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 1 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมี ส.ส.พยายามโยงว่า 24 ธ.ค.65 คือเส้นตาย วันครบวาระที่ ส.ส.ต้องลาออก เพื่อหาสังกัดพรรคใหม่ให้ทันภายใน 90 วันก่อนเลือกตั้ง แต่วามจริงเส้นตายนับถึงวันที่ 7 ก.พ.66 ใช่หรือไม่ว่า ตนไม่เคยรู้ว่าเขานับกันอย่างไร แต่ต้องนับจากวันที่ 23 มี.ค.66 ถอยลงมาหากอยู่ครบวาระแต่ถ้ากรณียุบสภาใช้กรอบ 30 วัน ในการไปสังกัดพรรค ทั้งนี้ โมเดลคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค. 2566 จะต้องนับจากวันดังกล่าวลงมา 90 วัน ซึ่งโมเดลดังกล่าวกำหนดเผื่อไว้เท่านั้น เพราะไม่รู้ว่าสภาจะสิ้นสุดลงด้วยการยุบสภาหรือครบวาระ

เมื่อถามว่า สังคมกำลังสับสนว่าวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรสับสน พอรู้แน่ชัดแล้วว่าเมื่อสภาเปิดแล้ววันนี้ ใครจะคิดอ่านอย่างไร ควรจะเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ เผื่อสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปได้

เมื่อถามต่อว่า มีความพยายามโยนชุดความคิดว่าหากมีการยุบสภาแล้ว กฎหมายลูกเลือกตั้งยังไม่ผ่าน รัฐบาลจะรักษาไปเรื่อยๆ จนกว่ากฎหมายจะเสร็จแบบนี้จริงหรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่บางคนคิด รัฐบาลก็ไม่รู้ ว่าถ้าเกิดเหตุแบบนั้นขึ้นมาจะอยู่กันอย่างไรและใช้กฎหมายอะไร เพราะรัฐบาลไม่ใช่คนชี้เรื่องนี้ แต่เป็น กกต. และถ้าใครไม่เชื่อก็ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีอำนาจไปกำหนด

เมื่อถามย้ำว่า แต่มีเงื่อนไขบังคับว่าต้องมีการเลือกตั้งจึงทำให้ไม่สามารถยื้อเวลารักษาการได้ยาวนานได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ ยังไงก็ต้องเลือกวันใดวันหนึ่งเลือกผิดเลือกถูกก็ต้องทำไป แล้วให้ศาลชี้เพราะถึงอย่างไรต้องมีการเลือกตั้ง และหาทางร่วมกันจนได้ว่าจะเอากฎเกณฑ์อย่างไร

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกฎหมายลูกเลือกตั้งว่า วันนี้อยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกำลังขอให้ กกต.ชี้แจงภายใน 15 วันขณะนี้ยังไม่ครบเวลา ซึ่งเมื่อชี้แจงแล้วศาลจึงจะวินิจฉัยได้ ตนไม่คิดว่าจะช้า เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่ใช่เรื่องสืบพยาน ส่วนหากเกิดอุบัติเหตุและจังหวะนั้นวาระรัฐบาลเหลือน้อย จะทำอย่างไรนั้น ทาง กกต. และรัฐบาลต้องมาคิดร่วมกัน แต่ กกต. ถือว่าได้เปรียบ เพราะออกกฎเกณฑ์อะไรได้ก่อน ถ้าใครเห็นว่าผิดก็ไปฟ้องร้องได้

เมื่อถามอีกว่าจะถึงขั้นออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าถามตนที่สุดของที่สุดก็ต้องทำอย่างนั้นแต่มันไม่สมควร เพราะการออก พ.ร.ก. เท่ากับเป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้เริ่มคิดถึงเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีเหตุอะไร จะคิด ทั้งนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไประยะหนึ่ง เราก็จะรู้ว่าจะออกมาแบบไหนตอนนี้ยังคิดไม่ได้ แต่รู้ว่ามีหลายทาง แต่อย่าไปคิดเลยมันจะฟุ้งซ่าน บ้า และวิกลจริต ตอนนี้ยังไม่มีเหตุหรือสถานการณ์อะไรในสภา ที่ต้องมานั่งคิดเตรียมรับสถานการณ์ว่ามันอาจต้องยุบสภาตอนนี้มันไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยง.